หลังจากที่มีข่าวกรณีมีผู้ร้องเรียน ป.ป.ท. ว่า ตำรวจ สน.บวรมงคล มีการค้าสำนวนคดีลักพระพุทธรูป หลายคนอาจจะสงสัยว่า คำว่า “ค้าสำนวน” คืออะไร? วันนี้ Zcooby จะหาคำตอบมาให้นะครับ
“ค้าสำนวน”คืออะไร?
การค้าสำนวนคดี เป็นคำเรียกสำหรับพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุมและพนักงานสอบสวนบางคน ที่มีพฤติกรรมเรียกรับเงินหรือผลประโยชน์แก่ผู้ต้องหาที่ถูกจับกุม เพื่อทำการบิดเบือนรูปคดี หรือเปลี่ยนรูปคดี เพื่อให้รับโทษน้อยลงหรือถึงขั้นไม่ต้องรับผิด หรือวิ่งเต้นเพื่อล้มคดี
หากเป็นกรณีการจับกุมยาเสพติด การค้าสำนวนก็อาจจะมีในรูปของการลดจำนวนยาเสพติดที่จับกุมได้ หรือทำให้สำนวนอ่อนจนศาลยกฟ้อง หรืออาจจะถึงขั้นให้เจรจากับทางพนักงานสอบสวนมีความเห็นทางคดี”ไม่ฟ้อง”
ตัวอย่างการค้าสำนวน
- การเรียกรับเงินทองจากผู้ถูกจับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคดียาเสพติด เช่นคนละ 100,000 -200,000 บาท โดยแลกกับการปล่อยตัวไม่ดำเนินคดี
- การลดจำนวนยาลง ในคดียาเสพติด โดยเอายาเสพติดไปขายให้พรรคพวกตัวเอง และทำให้ผู้ต้องหามียาเสพติดไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายน้อยลง แต่ผู้จับนำทรัพย์สินเงินทองที่ยึดได้จากผู้ต้องหาไปเป็นประโยชน์ส่วนตัว
- การจัดหาทนายความที่เป็นพรรคพวกตัวเองให้กับผู้ต้องหา หลังจากจับกุมผู้ต้องหา เมื่อได้เงินมาแบ่งกัน
- การทำสำนวนให้อ่อนลง พนักงานสอบสวนเมื่อรับตัวผู้ต้องหา ก็มีการเรียกเงินเรียกทองจากตัวผู้ต้องหาหรือญาติผู้ต้องหา โดยอ้างว่าจะทำสำนวนให้อ่อนและแนะนำให้ว่าจ้างทนายความที่เป็นพรรคพวกของตัวเอง จะทำให้คดียิ่งอ่อนลงไปอีก
- การถ่ายสำนวนทั้งสำนวนเพื่อใช้หักล้างพยานโจทก์ หลังจากสอบสวนเสร็จ ผู้ต้องหาหรือญาติผู้ต้องหาหรือแม้กระทั่งทนายความ บางคนก็ไปติดต่อพนักงานสอบสวนเพื่อให้ถ่ายสำนวนทั้งสำนวนเพื่อใช้หักล้างพยานโจทก์ คดีทั่วไปค่าคัดถ่ายสำนวน 30,000-50,000 บาทต่อสำนวน ซึ่งผลก็คือ ทนายความจำเลยมีคำให้การของพยานโจทก์อยู่ในมือและซักค้านเป็นข้อ ๆ ตามลำดับตามที่พนักงานสอบสวนเคยสอบสวนผู้ต้องหาไว้
- การยัดเงินตำรวจชุดจับกุมเพื่อให้กลับคำให้การในชั้นศาล เพื่อให้เบิกความไม่ยืนยันจำเลยหรือเบิกความแตกต่างจากบันทึกการจับกุมหรือเบิกความจำไม่ได้
ยังมีรูปแบบของการค้าสำนวนอีกหลายรูปแบบ แต่โดยส่วนมากจะใช้วิธีข้างต้นครับ
Be the first to comment