ในวันที่ 1 มิถุนายน 2565 จะเป็นวันที่เริ่มมีการบังคับใช้ PDPA หรือ พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 หลายคนอาจจะกังวลและสงสัยว่า PDPA จะเกี่ยวข้องหรือมีผลกระทบใดบ้างเกี่ยวกับชีวิตของเรา โดยทาง Zcooby.com จะขอแชร์เรื่องสำคัญๆ เกี่ยวกับ PDPA ที่คุณๆ ควรจะได้รู้
PDPA ย่อมาจากอะไร?
PDPA ย่อมาจาก Personal Data Protection Act B.E. 2562 (2019)
PDPA คืออะไร?
PDPA หรือ พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 เป็นกฎหมายว่าด้วยการให้สิทธิ์กับเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล สร้างมาตรฐานการรักษาข้อมูลส่วนบุคคลให้ปลอดภัย และนำไปใช้ให้ถูกวัตถุประสงค์ตามคำยินยอมที่เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลอนุญาต
พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งถูกกำหนดขึ้นเพื่อใช้ในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ไม่ให้ถูกจัดเก็บหรือนำไปใช้โดยไม่ได้แจ้งให้เราทราบ และ/หรือได้รับความยินยอมจากเราในฐานะเจ้าของข้อมูลก่อน
PDPA เริ่มบังคับใช้เมื่อไหร่?
แต่เดิม พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ได้ประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2562 และปัจจุบันได้ถูกเลื่อนให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มิถุนายน 2565 เป็นต้นไป
ทำไมต้องมี PDPA ?
ในปัจจุบัน คุณทราบหรือไม่ว่า ในขณะที่คุณใช้งานเว็บไซต์หรือแอพพลิเคชั่นต่างๆ จะมีการร้องขอการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้งานในด้านต่างๆ เช่น การเก็บคุกกี้ (Cookie) ในการใช้งานเว็บไซต์ต่างๆ การขอเข้าถึงตำแหน่งที่ตั้งและ GPS บนมือถือ หรือการเก็บข้อมูลส่วนบุคคลในส่วนต่างๆ เมื่อมีการสมัครสมาชิกบนเว็บไซต์หรือแอพต่างๆ
ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมี PDPA หรือ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อให้บริษัท พนักงาน หรือผู้ที่เกี่ยวข้องตระหนักถึงความสำคัญของการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลให้มีความปลอดภัยมากขึ้น โดยจะต้องมีการชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับการเก็บข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้าหรือผู้ใช้งาน รวมทั้งมีการขอความยินยอมก่อนสำหรับการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล
PDPA คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลด้านใดบ้าง?
ข้อมูลส่วนบุคคลทั่วไป (Personal Data)
- ชื่อ-นามสกุล
- เบอร์โทรศัพท์ อีเมลส่วนตัว ที่อยู่ปัจจุบัน
- เลขบัตรประชาชน เลขหนังสือเดินทาง เลขใบอนุญาตขับขี่
- ข้อมูลทางการศึกษา ข้อมูลทางการเงิน ข้อมูลทางการแพทย์
- ทะเบียนรถยนต์ โฉนดที่ดิน ทะเบียนบ้าน
- วันเดือนปีเกิด สัญชาติ น้ำหนักส่วนสูง
- ข้อมูลบนอื่น ๆ บนอินเทอร์เน็ตที่สามารถระบุตัวตนได้ เช่น Username /password, Cookies IP address, GPS Location
ข้อมูลส่วนบุคคลที่มีความอ่อนไหว (Sensitive Personal Data)
- เชื้อชาติ เผ่าพันธุ์
- ความคิดเห็นทางการเมือง
- ความเชื่อในลัทธิ ศาสนาหรือปรัชญา
- พฤติกรรมทางเพศ
- ประวัติอาชญากรรม
- ข้อมูลด้านสุขภาพ ความพิการ เช่น โรคประจำตัว การฉีดวัคซีน ใบรับรองแพทย์
- ข้อมูลสหภาพแรงงาน
- ข้อมูลพันธุกรรม
- ข้อมูลชีวภาพ เช่น ลายนิ้วมือ แบบจำลองใบหน้า ข้อมูลม่านตา
เราสามารถจัดการข้อมูลส่วนบุคคลของเราอย่างไรได้บ้าง?
พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ได้กำหนดให้พวกเราซึ่งเป็นเจ้าของข้อมูลมีสิทธิในข้อมูลส่วนบุคคลของตัวเอง ดังนี้
- สิทธิในการได้รับการแจ้งให้ทราบเมื่อมีการเก็บข้อมูล วัตถุประสงค์ในการใช้ข้อมูล หรือเวลาจะนำข้อมูลไปใช้
- สิทธิในการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลที่ได้มีการเก็บรวบรวมไว้เมื่อไหร่ก็ได้
- สิทธิในการอนุญาตให้มีการโอนข้อมูลส่วนบุคคลของเราไปยังผู้ให้บริการอีกรายหนึ่ง
- สิทธิในการถอดถอนความยินยอมในการเก็บรักษา ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลที่เราเคยได้ให้ไว้
- สิทธิคัดค้านการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล
- สิทธิขอให้ลบหรือทำลาย หรือทำให้ข้อมูลส่วนบุคคลเป็นข้อมูลที่ไม่สามารถระบุตัวบุคคล
- สิทธิในการขอให้แก้ไขข้อมูลส่วนบุคคล ให้เป็นปัจจุบัน หรือให้ถูกต้อง
- สิทธิขอให้ระงับการใช้ข้อมูลส่วนบุคคล
ดาวน์โหลด PDPA พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562
ท่านสามารถดาวน์โหลด พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ได้ที่ลิ้งค์ด้านล่างนี้
Be the first to comment