ในปี 2559 นี้ จะมีปรากฎการณ์ทางดาราศาสตร์หนึ่งที่น่าสนใจก็คือ “สุริยุปราคา” ที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทย และจะเกิดสุริยุปราคาแบบเต็มดวงที่ประเทศอินโดนีเซีย ในเช้าวันที่ 9 มีนาคม 2559 ทาง Zcooby จึงขอนำข้อมูลที่น่าสนใจเผื่อให้คุณไม่พลาดชมปรากฎการณ์ครั้งนี้
โดยทางสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ หรือ สดร. เชิญชวนประชาชนไทยร่วมชมปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงในวันที่ 9 มีนาคมนี้ ตั้งแต่เวลา 06.20 น.-08.40 น. โดยเกิดสุริยุปราคาเต็มดวง ในบริเวณประเทศอินโดนีเซีย และมหาสมุทรแปซิฟิกตอนเหนือ และประเทศไทยจะเห็นสุริยุปราคาบางส่วน (แล้วแต่พื้นที่)
รายละเอียดเกี่ยวกับการเกิดสุริยุปราคา 9 มีนาคม 2559
โดยในประเทศไทยจะมีรายละเอียดการมองเห็นดังนี้
- วันที่เกิดปรากฎการณ์ : วันพุธที่ 9 มีนาคม 2559
- เวลาที่เกิดปรากฎการณ์ : ตั้งแต่เวลา 06.20 น.-08.40 น.
- การมองเห็น : สุริยุปราคาบางส่วน (แล้วแต่พื้นที่)
- พื้นที่กรุงเทพมหานคร ดวงจันทร์จะเริ่มเข้าสู่สัมผัสที่ 1 เวลาประมาณ 06.38 น. และสิ้นสุดในเวลา 08.32 น.
- ดวงอาทิตย์จะถูกบังมาก ที่สุดบริเวณภาคใต้ ที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ประมาณ 69%
- ทางภาคเหนือที่จังหวัดเชียงราย ดวงอาทิตย์จะถูกบดบังเพียง 24%
- ทางสดร.จะมีการติดตั้งกล้องชมปรากฎการณ์ดังกล่าวพร้อมกันทั่วประเทศ 5 จุด ที่กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ฉะเชิงเทรา นครราชสีมา และสงขลา
สุริยุปราคาคืออะไร? เกิดขึ้นได้อย่างไร?
สุริยุปราคา หรือ สุริยคราส เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ เกิดขึ้นเมื่อดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และโลก โคจรมาเรียงอยู่ในแนวเดียวกันโดยมีดวงจันทร์อยู่ตรงกลาง
เกิดขึ้นเฉพาะในวันที่ดวงจันทร์มีดิถีตรงกับจันทร์ดับ เมื่อสังเกตจากพื้นโลกจะเห็นดวงจันทร์เคลื่อนเข้ามาบดบังดวงอาทิตย์ โดยอาจบังมิดหมดทั้งดวงหรือบางส่วนก็ได้ ในแต่ละปีสามารถเกิดสุริยุปราคาบนโลกได้อย่างน้อย 2 ครั้ง สูงสุดไม่เกิน 5 ครั้ง ในจำนวนนี้อาจไม่มีสุริยุปราคาเต็มดวงเลยแม้แต่ครั้งเดียว หรืออย่างมากไม่เกิน 2 ครั้ง
โอกาสที่จะได้เห็นสุริยุปราคาเต็มดวงสำหรับสถานที่ใดสถานที่หนึ่งบนพื้นโลกนั้นค่อนข้างยาก เนื่องจากสุริยุปราคาเต็มดวงแต่ละครั้งจะเกิดในบริเวณแคบ ๆ ภายในแถบที่เงามืดของดวงจันทร์พาดผ่านเท่านั้น
ชมการถ่ายทอดสดถ่ายทอดสดสุริยุปราคาเต็มดวงที่อินโดนิเซีย 9 มีนาคม 2559
สำหรับผู้ที่ต้องการชมการถ่ายทอดสดปรากฎการณ์สุริยุปราคาเต็มดวง ในบริเวณประเทศอินโดนีเซีย และมหาสมุทรแปซิฟิกตอนเหนือ สามารถชมได้ผ่านทางเว็บไซต์ของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (www.narit.or.th) หรือชมผ่านลิ้งค์ด้านล่างได้เลยครับ
หรือชมอีกลิ้งค์ถ่ายทอดสดที่นี่
Be the first to comment