เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2565 หลังจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าสงวนเพิ่มเติม ซึ่งได้แก่ “นกชนหิน” โดยจะเป็นสัตว์ป่าสงวนลำดับที่ 20 หลายคนอาจจสงสัยว่า นกชนหิน หน้าตาเป็นอย่างไร? วันนี้ Zcooby ขอนำเสนอเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับนกชนหิน สัตว์ป่าสงวนลำดับที่ 20 ของประเทศไทย
นกชนหิน คือนกอะไร?
นกชนหิน (Rhinoplex Vigil) เป็นนกเงือก 1ใน 13 ชนิดของไทย มีการกระจายเฉพาะตั้งแต่ จ.ชุมพร ถึง จ.นราธิวาส พบเป็นกลุ่มขนาดเล็กในป่าดิบชื้นระดับต่ำ โดยมีกลุ่มประชากรหลักอยู่ในอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสง
ในปัจจุบันนี้ นกชนหินเป็นสัตว์ป่าหายาก ใกล้สูญพันธุ์ จำเป็นต้องสงวนและอนุรักษ์ไว้อย่างเข้มงวด ปัจจุบันในประเทศไทยมีนกชนหินในธรรมชาติเหลืออยู่น้อยมาก ประมาณไม่เกิน 100 ตัว
ลักษณะของนกชนหิน
นกชนหิน มีลักษณะที่เด่นคือ เป็นนกขนาดใหญ่ มีหางยาว ปากสั้นแข็งสีแดงกล่ำ ปลายปากมีสีเหลือง ตัวผู้มีหนังเปลือยบริเวณคอสีแดงคล้ำ ตัวเมียส่วนนี้เป็นสีฟ้าอ่อนจนถึงสีน้ำเงิน มีโหนกขนาดใหญ่
ทำไมถึงชื่อ “นกชนหิน”
ด้วยพฤติกรรมการต่อสู้กันจะมีการบินใช้โหนกชนกันทำให้เกิดเสียงดัง จากพฤติกรรมดังกล่าว นกชนิดนี้จึงถูกเรียกว่า “นกชนหิน”
ทำไมนกชนหินถึงมีความเสี่ยงที่จะสูญพันธ์?
นกชนหิน เป็นนกที่มีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์อย่างยิ่งในบรรดานกในวงศ์นกเงือก เป็นนกที่มีวิวัฒนาการยาวนานที่สุดในวงศ์นกเงือกที่ยังเหลืออยู่ในธรรมชาติ ด้วยพฤติกรรมการจับคู่ผสมพันธุ์และการทำรังของนกในวงศ์นกเงือก โดยจะมีการปิดปากรังเพื่อให้ตัวเมียกกไข่และเลี้ยงลูก ส่วนนกตัวผู้จะเป็นผู้ออกหาอาหารมาเลี้ยงตัวเมียและลูก ๆ ในรัง หากนกตัวผู้ถูกล่าหรือตายไปจะส่งผลในนกตัวเมียและลูกนกในรังอดอาหารและตายตามกันไปด้วย ดังนั้น การล่านกเพียงหนึ่งตัวอาจทำให้นกตายไปมากกว่า 1 ตัว
และอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้นกชนหินถูกคุกคามสูง เนื่องจากนกชนหินมีโหนกที่ตันและสวยงามเหมือนลักษณะของงาช้าง ทำให้เป็นที่ต้องการของตลาดค้าสัตว์ป่า ส่งผลให้เกิดการลักลอบล่านกชนหินอย่างมาก
Be the first to comment