หลังจากที่มีข่าวว่า ในวันที่ 20 สิงหาคม 2558 ทางกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) จะเปิดรับสมัครสมาชิกเข้ากองทุนฯ ผ่านสาขาธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ 3 แห่งคือ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) หลายคนอาจจะสงสัยว่า กอช. หรือ กองทุนการออมแห่งชาติ คืออะไร? ขั้นตอนกฎเกณฑ์อย่างไรบ้าง ใครที่จะสามารถสมัครเป็นสมาชิกกองทุนได้ แล้วผลตอบแทนหรือประโยชน์จากการเข้าร่วมคืออะไร? วันนี้ Zcooby จะหาคำตอบมาแนะนำให้ทราบครับ
กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) คืออะไร?
กองทุนการออมแห่งชาติ หรือ กอช.ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อให้ประชาชนที่ประกอบอาชีพอิสระและไม่มีสวัสดิการใดๆ กับรัฐบาล ต้องการรับเงินบำนาญ ก็สามารถสมัครเป็นสมาชิกของ กอช.เพื่อรับเงินบำนาญหลังจากอายุเกินกว่า 60 ปี
โดย กอช. มีไว้เพื่อกลุ่มคนที่ขาดโอกาสในการออมเพื่อเกษียณอายุเนื่องจากไม่ได้อยู่ในระบบแรงงานหรือเป็นลูกจ้างของบริษัท ซึ่งในประเทศไทยมีกลุ่มแรงงานนอกระบบมากกว่า 24 ล้านคนครับ
สมัครเป็นสมาชิก กอช. ที่ไหน?
ในช่วงแรก ตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม 2558 เป็นต้นไป ทางกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) จะเปิดรับสมัครสมาชิกเข้ากองทุนฯ ผ่านสาขาธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ 3 แห่งคือ
- ธนาคารกรุงไทย
- ธนาคารออมสิน
- ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
คุณสมบัติของผู้เข้าร่วมเป็นสมาชิก กอช.
1. เป็นบุคคลสัญชาติไทย
2. อายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ และไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์
3. ไม่เป็นสมาชิกของกองทุนเพื่อการชราภาพใด ๆ ที่มีการสมทบเงินจากรัฐหรือนายจ้าง เช่น
- กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
- กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการกรุงเทพมหานคร
- กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่น
- กองทุนประกันสังคม (ซึ่งส่งเงินเพื่อได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ)
- กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
- กองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน เป็นต้น
นอกจากนี้ยัง เปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปที่ไม่อยู่ในระบบบำเหน็จบำนาญใดๆ สามารถออมต่อไปได้อีก 10 ปี โดยมีสิทธิขอรับบำนาญได้เมื่ออายุครบ 60 ปีอีกด้วย
เงื่อนไขการออมเงินเข้ากองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.)
เงื่อนไขการการจ่ายเงินเข้ากองทุนจะมาจาก 2 ฝ่าย คือ
1. สมาชิกจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนไม่ต่ำกว่าเดือนละ 50 บาท แต่ไม่เกินปีละ 13,200 บาท ทั้งนี้สมาชิกไม่จำเป็นต้องส่งเงินสะสมทุกเดือน และไม่จำเป็นต้องส่งเงินจำนวนเท่ากันทุกเดือนนอกจากนี้ หากในปีใดไม่สามารถส่งเงินสะสมได้ กอช. จะยังคงสิทธิความเป็นสมาชิกไว้ แต่รัฐก็จะไม่ส่งเงินสมทบให้
2. รัฐบาลจ่ายเงินสมทบให้แก่สมาชิกตามระดับอายุของสมาชิก และเป็นอัตราส่วนกับจำนวนเงินที่สมาชิกสะสมเข้ากองทุนโดยก่อนหน้านี้มีการกำหนดอัตราไว้ คือ
- อายุ 15-30 ปี รัฐจ่ายให้ 50% ของเงินสะสม แต่ไม่เกิน 600 บาทต่อปี
- อายุ 30-50 ปี รัฐจ่ายให้ 80% ของเงินสะสม แต่ต้องไม่เกิน 960 บาทต่อปี
- อายุมากกว่า 50 ปี แต่ไม่เกิน 60 ปี รัฐจะสมทบจ่ายให้ 100% ของเงินสะสม แต่ไม่เกิน 1,200 บาทต่อปี
- อายุ 60 ปีขึ้นไป จะได้รับบำนาญรายเดือนตลอดชีวิตตามผลตอบแทนของการออม
ผลประโยชน์ที่จะได้รับจาก กอช.
เมื่อสมาชิกมีอายุครบเกษียณ(อายุครบ 60 ปีบริบูรณ์) จะมีทั้งหมด 4 กรณี คือ
1.จะได้รับเงินบำนาญจากเงินสะสม เงินสมทบ และดอกผลจากเงินสะสม เงินสมทบ ตามจำนวนเงินในบัญชีของผู้ออมแต่ละคนไปจนตลอดอายุขัย เป็นลักษณะของบำนาญรายเดือนตลอดชีวิต
2.หากสมาชิกทุพพลภาพก่อนอายุครบ 60 ปี จะได้รับเงินสะสมและดอกผลของเงินสะสม ส่วนเงินสมทบและดอกผลของเงินสมทบจะได้รับเมื่อมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์
3. หากลาออกจากกองทุน จะได้รับเงินสะสมและดอกผลของเงินสะสม
4. หากเสียชีวิต จะได้รับเงินเท่ากับจำนวนเงินในบัญชีของแต่ละบุคคลที่ออมไว้
เงื่อนไขเพิ่มเติม
หากในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งก่อนอายุเกษียณ สมาชิกได้งานประจำและไปเป็นสมาชิกของกองทุนประกันสังคม กองทุน กบข. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือกองทุนการออมเพื่อการชราภาพอื่น ๆ ก็ยังคงความเป็นสมาชิกและมีสิทธิส่งเงินสะสมกับ กอช. ได้ต่อไป ไม่จำเป็นต้องลาออกจากกองทุน แต่รัฐจะไม่สมทบเงินให้ และเงินที่สะสมในช่วงเวลาดังกล่าว จะไม่ถูกนำมารวมคำนวณเป็นเงินบำนาญ
และในระหว่างเป็นสมาชิก กอช. จะไม่สามารถถอนเงินออกมาใช้ก่อนได้
สอบถามค่ะวันนี้แม่ไปส่งกองทุน กอช ซึ่งแม่มีอายุ 54 ปี และส่งปีที่ 2 จะส่งเต็มจำนวน 13200 บาทแต่พนักงาน ธนาคาร ธอส สาขา อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก แจ้งว่ายายไม่ต้องจ่ายเต็มจำนวนหรอก เขาให้ส่งอีก 10 ปียายจะส่งไหวหรอ แล้วแม่ถามว่า ไหนบอกว่าอายุครบ 60 ปีจะจ่ายคืนให้ไม่ใช่หรอ พนักงานบอกว่าไม่ใช่ ยายต้องส่งไปอีก 10 ปี อยากถามว่าความจริงคือ????
ไม่มีสมุดบัญชีสำหรับการออม มีแค่ใบเสร็จเราจะรู้ยอดได้คะ จ้องเก็บใบเสร็จตอนจ่ายไว้แบบนี้ไปจนแก่เลยหรอคะ