หลังจากที่ น.ส. บุตรศรัณย์ ทองชิว หรือน้ำตาล เดอะสตาร์ 5 วัย 28 ปี ได้เกิดอาการเลือดออกทางปากและจมูก หมดสติ และได้เสียชีวิตเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2562 ที่ผ่านมา ตอนนี้ ทางโรงพยาบาลศิริราช จะมีการแถลงข่าวสาเหตุการเสียชีวิตในเช้าวันที่ 26 มิถุนายน 2562
ในวันนี้ (26 มิถุนายน 2562) ศ.นพ. ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วย รศ. นพ. ปรัญญา สากิยลักษณ์ แพทย์ประจำสาขาวิชาศัลยศาสตร์หัวใจและทรวงอก ภาควิชาศัลย์ศาสตร์ จะรายงานผลการตรวจวินิจฉัยชิ้นเนื้อดังกล่าวให้ทุกคนได้ทาบ ที่ห้องประชุมอทิตยาทรกิติคุณ ตึกสยามินทร์ ชั้น 7 โรงพยาบาลศิริราช
ถ่ายทอดสดแถลงการณ์จากศิริราช (26 มิถุนายน 2562)
น้ำตาล เดอะสตาร์ เสียชีวิตจากสาเหตุอะไร?
น้ำตาลเสียชีวิตจากอาการ วัณโรคหลังโพรงจมูก
สืบเนื่องจากกรณีการเสียชีวิตของ น.ส. บุตรศรัณย์ เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2562 นั้น คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้ขออนุญาตส่องกล้องเข้าไปดูบริเวณหลังโพรงจมูกและพบบริเวณเยื่อบุหลังโพรงจมูกมีสีผิดปกติไป จากปกติขนาดประมาณ 0.5 – 1 ซม. จึงตัดชิ้นเนื้อบริเวณดังกล่าวเพื่อนำมาตรวจวินิจฉัยทางพยาธิวิทยาหาสาเหตุการเสียชีวิต
ระหว่างตัดชิ้นเนื้อพบมีเลือดไหลออกมา หลังจากย้อมชิ้นเนื้อ พบว่าเข้าได้กับวัณโรคแต่ไม่พบเชื้อ คณะฯ จึงได้ทำการตรวจอีกวิธีหนึ่งที่เรียกว่า PCR (Polymerase Chain Reaction) คือการตรวจหา DNA ของเชื้อวัณโรคได้ผลเป็นบวก (positive) ผลการตรวจ PCR ดังกล่าวและผลการตรวจชิ้นเนื้อจึงบ่งชี้ว่า มีเชื้อวัณโรคหลังโพรงจมูก ซึ่งในกรณีนี้มีโอกาสติดต่อกันได้น้อยจากสถิติของประเทศไทยในปี พ.ศ. 2560 พบคนไทยเป็นวัณโรคประมาณ 80,000 คนจากประชากร 69 ล้านคน โดยร้อยละ 83 จะตรวจพบที่ปอดร้อยละ 17 ตรวจพบนอกปอด
สำหรับวัณโรคหลังโพรงจมูกพบได้น้อยกว่าร้อยละ 1 ของวัณโรคที่พบนอกปอด อีกทั้งวัณโรคสามารถเป็นได้ตามอวัยวะอื่น ๆ ของร่างกาย สำหรับวัณโรคหลังโพรงจมูกรายงานทางการแพทย์ทั่วโลกพบว่าผู้ป่วย 1 ใน 3 อาจไม่มีอาการใด ๆ และประมาณร้อยละ 70 มีต่อมน้ำเหลืองที่คอโตหรือมีก้อนบริเวณหลังโพรงจมูก การวินิจฉัยวัณโรคหลังโพรงจมูกจึงมักได้จากการตรวจชิ้นเนื้อที่ก้อนหรือต่อมน้ำเหลือง
ข้อแนะนำสำหรับประชาชนจากกรณีของน.ส.บุตรศรัณย์ทองชิว คือ 1. อุบัติการณ์ของวัณโรคในประเทศไทยยังไม่ลดลงสามารถเกิดได้กับทุกคนทุกเพศทุกวัยและสามารถเกิดขึ้นได้ในหลากหลายอวัยวะ 2. ควรตรวจร่างกายเป็นประจำทุกปี หากพบสิ่งผิดปกติใด ๆ จำต้องสืบค้นจนพบสาเหตุของความผิดปกตินั้น 3. แม้การตรวจร่างกายจะปกติแต่หากมีอาการผิดปกติระยะเวลาหนึ่งเช่นน้ำหนักลดไม่ทราบสาเหตุเบื่ออาหารมีไข้ต่ำ ๆ คลำได้ก้อนผิดปกติควรพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ
Be the first to comment