Maglev รถไฟพลังแม่เหล็กที่เร็วกว่าชินกันเซ็น 2 เท่า!!

หลายคนที่เพิ่งเคยได้ยินคำว่า Maglev อาจจะสงสัยว่า มันคืออะไร? วันนี้ Zcooby จะมาแนะนำถึงเรื่องรถไฟพลังแม่เหล็กความเร็วสูง Maglev กันนะครับ

หลังจากที่มีข่าวว่า ทางประเทศญี่ปุ่นได้ประสบความสำเร็จในการทดสอบ Maglev train ที่ความเร็ว 600 กิโลเมตรต่อชั่วโมงสำเร็จแล้ว ในอนาคต รถไฟพลังแม่เหล็กนี้จะเปลี่ยนโลกของการเดินทางไปอีกมากมาย เราจึงอยากให้คุณได้รู้จักกับรถไฟระบบนี้กันก่อนนะครับ

Maglev คืออะไร?

Maglev คือ รถไฟพลังแม่เหล็กความเร็วสูง เป็นคำเรียกที่ย่อมาจากคำว่า Magnetic Levitation (Magnetic = ระบบแม่เหล็ก, Levitation = การลอยตัว,ยกตัว) ซึ่งลักษณะการทำงานคือใช้สนามแม่เหล็ก (Magnet) มายกให้รถไฟลอยอยู่บนราง (Levitation) รวมทั้งใช้ไฟฟ้าเหนี่ยวนำให้เกิดสนามแม่เหล็กเพื่อเป็นตัวขับเคลื่อนและหยุดรถ

Maglev อาศัยหลักการง่ายๆ ของการดึงดูดกันของแม่เหล็กต่างขั้ว และการผลักกันของแม่เหล็กขั้วเดียวกัน โดยจะมีชุดแผงขดลวดเล็กๆ อยู่สองข้างราง กระแสไฟฟ้าจะเป็นกระแสสลับที่เปลี่ยนทิศทางไปมาไปมาเพื่อจะเปลี่ยนขั้วสนามแม่เหล็กให้ผลักและดึงรถไฟไปข้างหน้าอยู่ตลอดเวลา โดยแผงรางที่อยู่ข้างหน้าจะมีขั้วแม่เหล็กตรงข้ามกับแผงที่ติดตั้งบนรถเพื่อที่จะดึงดูดรถ และแผงรางที่อยู่ข้างหลังจะมีขั้วแม่เหล็กเดียวกับแผงที่ติดตั้งบนรถเพื่อทำให้เกิดแรงผลักเสริมอีกแรงนึง

จุดเด่นของ Maglev

  1. สามารถทำความเร็วสูงสุดได้มากกว่าระบบรางแบบเดิมๆ ที่มีแรงเสียดทานระหว่างล้อกับราง
  2. ประสิทธิภาพสูงเนื่องจากไม่มีแรงเสียดทานระหว่างรถกับราง ลดค่าใช้จ่ายด้านการบำรุงรักษา
  3. ไม่ต้องใช้เครื่องยนต์ที่ก่อให้เกิดมลพิษ ไม่ต้องสิ้นเปลืองทรัพยากรน้ำมัน
  4. ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะทางเสียง
  5. ใช้ระบบคอมพิวเตอร์ในการควบคุม,ตรวจสอบ,ปรับแก้ตำแหน่งระยะห่างระหว่างตัวรถไฟกับรางที่ลอยตัวเพียงไม่กี่เซนติเมตร

ส่วนผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นก็คือ ผลกระทบของสนามแม่เหล็กต่อประชาชนที่อาศัยอยู่ตามแนวเส้นทาง แม้รถไฟแมกเลฟจะมีแผงกันสนามแม่เหล็กติดตั้งอยู่ระหว่างท้องรถกับตัวรถ และกั้นส่วนขดลวดกับด้านนอกของราง แต่ก็ยังไม่มีใครมั่นใจว่ามันช่วยป้องกันผลกระทบร้อยเปอร์เซ็นต์ ซึ่งทางต้นตำรับผู้คินค้นเทคโนโลยีแมกเลฟอย่างเยอรมันกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยไว้ว่าจะต้องมีระยะเว้นระหว่างรางและสิ่งก่อสร้างข้างเคียงอย่างน้อย 300 เมตร

ส่วนเรื่องความคุ้มค่าในการลงทุนนั้น ในประเทศอเมริกาได้ตั้งข้อกำหนดว่า จะนำระบบแมกเลฟมาพิจารณาสำหรับการเดินทางระหว่างเมืองที่มีระยะทางตั้งแต่ 100 ถึง 600 ไมล์ ซึ่งประเมินแล้วว่า เป็นระยะทางเป้าหมายที่เหมาะสมกับการลงทุนและความคุ้มค่าของเวลาในการเดินทาง

หวังว่าอีกไม่นาน บ้านเราคงจะได้มีโอกาสใช้รถไฟพลังแม่เหล็กนะครับ

 

 

 

Be the first to comment

Leave a comment

Your email address will not be published.


*


This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.