พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี
พลเอกหญิง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา เป็นพระราชธิดาพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ พระองค์มีพระขนิษฐาและพระอนุชาต่างพระมารดา คือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา และ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร ได้รับพระราชโองการแต่งตั้งเป็นนายทหารราชองครักษ์พิเศษ และได้รับพระบรมราชโองการแต่งตั้งเป็นเสนาธิการกรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ กองบัญชาการทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์
พระราชประวัติ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี
พระนาม : พลเอกหญิง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา
ประสูติ : 7 ธันวาคม พ.ศ. 2521
พระชนมายุ : 44 พรรษา
ครอบครัว : เป็นพระราชธิดาพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว กับพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ และเป็นพระราชนัดดาพระองค์แรกในพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร กับสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
การศึกษา
- ระดับอนุบาล ประถมและมัธยมต้น ณ โรงเรียนราชินี
- ระดับมัธยมปลาย ณ โรงเรียนฮีธฟิลด์ ประเทศอังกฤษ และโรงเรียนจิตรลดา
- ระดับปริญญาตรี ใน ปี พ.ศ. 2544 จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยทรงได้รับเกียรตินิยมอันดับสอง
- ระดับปริญญาตรี สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช โดยทรงได้รับเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง
- เนติบัณฑิตไทย (น.บ.ท.) เนติบัณฑิตยสภา ปีการศึกษา 2547
- Master of Laws (LL.M.), มหาวิทยาลัยคอร์เนล สหรัฐ
- Doctor of the Science of Law (J.S.D.) มหาวิทยาลัยคอร์เนล สหรัฐ
พระกรณียกิจ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี
สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจในด้านต่าง ๆ ทั้งด้านสาธารณกุศลผ่านมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย และด้านกฎหมายซึ่งทรงมีความเชี่ยวชาญ ตลอดจนปฏิบัติพระกรณียกิจสนองพระเดชพระคุณในการเสด็จแทนพระองค์อยู่โดยเสมอมา เมื่อครั้งที่ทรงศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทรงร่วมงานฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์ และทรงเป็นผู้เชิญธรรมจักร ตราสัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัย มากไปกว่านั้น ทรงเข้าทำงานที่คณะทูตถาวรแห่งประเทศไทยประจำองค์การสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก
ด้านกฎหมาย
- พ.ศ. 2549 – อัยการผู้ช่วย สถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด
- พ.ศ. 2550 – อัยการประจำกอง (ข้าราชการอัยการชั้น 2) สำนักงานคดียาเสพติด
- พ.ศ. 2551 – อัยการจังหวัดผู้ช่วย(ข้าราชการอัยการชั้น 2) สำนักงานอัยการจังหวัดอุดรธานี
- พ.ศ. 2552 – รองอัยการจังหวัดอุดรธานี (ข้าราชการอัยการชั้น 3) สำนักงานอัยการจังหวัดอุดรธานี
- พ.ศ. 2553 – รองอัยการจังหวัดพัทยา (ข้าราชการอัยการชั้น 3) สำนักงานอัยการจังหวัดพัทยา
- พ.ศ. 2554 – รองอัยการจังหวัดหนองบัวลำภู (ข้าราชการอัยการชั้น 3) สำนักงานอัยการจังหวัดหนองบัวลำภู
- พ.ศ. 2554 – อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด (ข้าราชการชั้น 4) สำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน
- พ.ศ. 2555 – เอกอัครราชทูต (นักบริหารระดับสูง) ประจำคณะกรรมาธิการแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย
- 1 ตุลาคม พ.ศ. 2555 – เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มประจำสาธารณรัฐออสเตรีย
- 7 มกราคม พ.ศ. 2556 – เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มประจำประเทศสโลวาเกีย อีกตำแหน่งหนึ่ง
- 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 – เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มประจำประเทศสโลวีเนีย อีกตำแหน่งหนึ่ง
- 1 ตุลาคม พ.ศ. 2557 – อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด (ข้าราชการชั้น 4) สำนักงานอัยการจังหวัดหนองบัวลำภู
- 3 เมษายน พ.ศ. 2560 – อัยการจังหวัดคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัดระยอง (ข้าราชการอัยการชั้น 4)
- 1 ตุลาคม พ.ศ. 2560 – อัยการผู้เชี่ยวชาญ (ข้าราชการอัยการชั้น 5) สำนักงานอัยการภาค 2 สำนักงานอัยการสูงสุด
ด้านการศึกษา
เป็นอาจารย์พิเศษ หลักสูตรปริญญาโท คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
พ.ศ. 2562 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา เสด็จพระดำเนินแทนพระองค์ในการพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ร่วมกับผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏเขตภาคกลาง ณ อาคารอเนกนิทัศน์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี
มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย
มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย เริ่มต้นจากการดำเนิน โครงการอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย ซึ่งมีขึ้นในขณะที่มีอุทกภัยครั้งร้ายแรงในกรุงเทพมหานคร ในปี พ.ศ. 2538 และมีผู้ได้รับความเดือดร้อนเป็นจำนวนมาก จนภาคราชการและองค์กรการกุศลที่มีอยู่มิอาจให้ความช่วยเหลือได้อย่างทั่วถึง จนเกิดเหตุการณ์กระทบกระทั่งกันระหว่างประชาชนอันเกิดจากความเครียดอันเนื่องมาจากการป้องกันน้ำให้ท่วมในวงจำกัด ผู้ที่เดือนร้อนจึงรู้สึกว่าขาดที่พึ่ง ขาดความเห็นอกเห็นใจ ต้องได้รับความเดือดร้อนเฉพาะชาวพื้นที่ของตนเอง ขณะที่พื้นที่ติดกันได้รับความสะดวกสบายอย่างเป็นปกติ
ในช่วงเช้าของวันที่ 29 ตุลาคม เป็นวันที่สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ทรงออกปฏิบัติภารกิจในโครงการฯ เป็นครั้งแรก โดยเสด็จออกรับน้ำใจจากผู้ไม่ประสบอุทกภัยที่สถานีบริการน้ำมัน ต่อจากนั้นในช่วงบ่าย ได้เสด็จพระดำเนินเยี่ยมเยียนประชาชนที่ซอยจรัญสนิทวงศ์ 34 เขตบางกอกน้อย ซอยจรัญสนิทวงศ์ 82, 84 และ 86 เขตบางพลัด
การออกปฏิบัติพระกรณียกิจในครั้งนี้ส่งผลให้เหตุการณ์สงบลง จากนั้นมาโครงการฯ ก็ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง จนได้จัดตั้งเป็นมูลนิธิที่ผู้บริจาคสามารถหักลดหย่อนภาษีได้ ตั้งแต่วันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2544 และได้พัฒนาการปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่องเรื่อยมา
นอกจากนี้ ในวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2554 สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดให้ รองศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์พิชิต สุวรรณประกร เป็นผู้แทนพระองค์นำถุงยังชีพ 3,000 ถุง ไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยในการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมต่อเหตุการณ์แผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิในโทโฮะกุ
โครงการกำลังใจ ในพระดำริ
ทรงก่อตั้งเมื่อวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2544 เมื่อครั้งยังทรงเป็นนักศึกษากฎหมาย โดยครั้งแรก เสด็จเยี่ยมผู้ต้องขังหญิง ณ ทัณฑสถานหญิงกลาง แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร ด้วยความสนพระทัยในสภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้ต้องขัง
โครงการนี้ได้ขยายความช่วยเหลือไปยังเด็กที่ติดท้องแม่ก่อนเข้าจำคุก รวมทั้งผู้ต้องขังหญิงสูงอายุ และเพื่อให้การช่วยเหลือผู้ต้องขังหญิงได้กระจายไปทั่วโลก ทรงมีบทบาทสำคัญในการนำเสนอและยกร่างข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำต่อสหประชาชาติสำหรับการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิง ภายใต้ชื่อ “Enhancing Life for Female Inmates: ELFI”
มูลนิธิ ณภาฯ ในพระดำริ
เป็นมูลนิธิที่จัดตั้งขึ้นด้วยพระประสงค์ของสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 โดยประทานพระกรุณารับเป็นองค์ประธานมูลนิธิ เพื่อดำเนินกิจการตามพระดำริด้านสาธารณกุศลในการให้โอกาส การเป็นตัวกลางในการแสวงหาโอกาส และการพัฒนาชีวิตแก่ผู้ด้อยโอกาสในสังคมโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มอดีตผู้ต้องขังและผู้ต้องขัง ตลอดจนกระตุ้นเตือนให้สาธารณชนตระหนักถึงความสำคัญของการให้โอกาส มูลนิธิ ณภาฯ จึงได้ดำเนินการตามพระดำริดังกล่าว เพื่อสนับสนุนกลุ่มผู้ด้อยโอกาสให้สามารถกลับมาดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุข
ผลิตภัณฑ์จากมูลนิธิ ณภาฯ ในปัจจุบัน ประกอบด้วยกลุ่มผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มอุปโภคตรา “จัน” และ ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มบริโภคตรา “ธรา” โดยมูลนิธิ ณภาฯ มีหน้าที่เป็นตัวกลางในการเผยแพร่และจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเพื่อนำมาเป็นทุนในการสนับสนุนงานของมูลนิธิต่อไป
มูลนิธิ/องค์กรในพระอุปถัมภ์
- มูลนิธิกุมาร โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า
- มูลนิธิ ณภาฯ ในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา
- เครือข่ายคนรักน้องหมา
- กองทุนกำลังใจ
- ศูนย์ควบคุมสุนัข กทม. (ประเวศ)
Be the first to comment