วันนี้ Zcooby มีประวัติของบุคคลท่านหนึ่งคือ Emmy Noether (เอมมี่ โนเตอร์) ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญในวงการคณิตศาสตร์ระดับโลก หลายคนเลยอาจจะอยากรู้จักว่าเธอคือใคร มีประวัติและผลงานที่น่าสนใจอย่างไร วันนี้เราจะมาเล่าให้ฟังนะครับ
Emmy Noether คือใคร?
เธอเป็นนักคณิตศาสตร์หญิงที่โด่งดังที่สุดในศตวรรษที่ 20 มีผลงานที่สำคัญๆ ในคณิตศาสตร์ เช่น การวิจัยปัญหาพีชคณิตชนิด non-commutative รวมทั้งเรื่อง axiom development of algebra และ ideal theory ซึ่งมีเรื่อง Noetherian ring ปรากฏเป็นครั้งแรก (เป็นเรื่องเกี่ยวกับความสำคัญของสมมาตรกับฟิสิกส์ ) และนี่ก็คือผลงานที่สำคัญที่สุดของเธอ โดยผลงานนี้มีอิทธิพลต่อวิชาพีชคณิตสมัยใหม่และวิชาฟิสิกส์มาจนทุกวันนี้
วันที่ 23 มีนาคม 2558 นี้จะเป็นวันครบรอบวันเกิด 133 ปีของเธอครับ
ผลงานที่น่าสนใจและสร้างชื่อให้กับ Emmy Noether
ผลงานที่โดดเด่นของเธอคือ
- ทฤษฎี Noether ซึ่งเกี่ยวกับหลักการอนุรักษ์ต่างๆ เช่น พลังงานโมเมนตัมเชิงเส้น และโมเมนตัมเชิงมุม ว่าเกิดจากคุณสมบัติความสมมาตรของระบบ โดยความยิ่งใหญ่ของทฤษฎีนี้คือ สามารถนำไปใช้ได้ทั้งในทฤษฎีกลศาสตร์ของนิวตัน และในทฤษฎีสัมพันธภาพทั่วไปของไอน์สไตน์ด้วย (ซึ่งไอน์สไตน์ชื่นชมในความฉลาดเฉลียวของเธอมาก)
- ทฤษฎีการไม่แปรเปลี่ยน (theory of invariant) ในฟิสิกส์
- การวิจัยปัญหาพีชคณิตชนิด non-commutative
- axiom development of algebra
- ideal theory ซึ่งมีเรื่อง Noetherian ring ปรากฏเป็นครั้งแรก และนี่ก็คือผลงานที่สำคัญที่สุดของเธอ และผลงานนี้มีอิทธิพลต่อวิชาพีชคณิตสมัยใหม่มาจนทุกวันนี้
ประวัติของ Emmy Noether
Emmy Amalie Noether (เอมมี่ อมาลี่ โนเตอร์) เกิดเมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2425 ที่เมือง Erlangen ในแคว้นบาวาเรียของประเทศเยอรมนี เธอมีบิดาเชื้่่อสายยิวชื่อ Max ผู้เป็นศาสตราจารย์คณิตศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัย Erlangen ส่วนมารดาชื่อ Ida Amalia ก็เป็นยิวที่ครอบครัวมีฐานะมั่งคั่งในเมือง Cologne
ในวัยเด็ก เธอได้เข้าเรียนที่โรงเรียนสตรีชั้นสูงโดยเรียนวิชาภาษาอังกฤษ,ภาษาฝรั่งเศส,คณิตศาสตร์,เปียโนและเต้นรำ จนกระทั่งอายุ 13 ปี เธอก็สำเร็จได้รับประกาศนียบัตรว่า มีความสามารถในการสอนภาษาฝรั่งเศส และภาษาอังกฤษได้ดี
เมื่อถึงช่วงที่จะเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลับ เธอกลับไม่ต้องการเป็นครูภาษา แต่เธอสนใจวิชาคณิตศาสตร์มากกว่า ซึ่งในสมัยนั้น มหาวิทยาลัยเยอรมันไม่ยินยอมให้ผู้หญิงเรียน หรือแม้แต่มหาวิทยาลัย Erlangen ที่บิดาเธอสอนอยู่ก็ปฏิเสธไม่รับนิสิตหญิงเข้าเรียน โดยอ้างว่าผู้หญิงจะทำให้บรรยากาศวิชาการของมหาวิทยาลัยเสีย
แม้จะเผชิญอุปสรรคและข้อห้ามมากมาย แต่เธอก็มิได้ย่อท้อ โดยเธอได้ขออนุญาต D. Hilbert, H. Minkowski, F. Klein ผู้เป็นศาสตราจารย์คณิตศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัย Gottengen เข้าไปนั่งฟังคำบรรยายคณิตศาสตร์บางวิชา และเมื่อถึงปี 2447 ที่มหาวิทยาลัย Erlangen ยินยอมให้ผู้หญิงเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยได้ เธอก็ได้เข้าเรียนที่นั่น และได้จบการศึกษาระดับปริญญาเอก โดยเธอได้ทำวิทยานิพนธ์คณิตศาสตร์เรื่อง “On complete systems of invariants for ternary biquadratie forms”
เมื่อสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกแล้ว เธอก็มิได้ออกไปหางานทำที่อื่น เพราะต้องอยู่ดูแลบิดาที่ล้มป่วยเป็นอัมพาต และทำงานสอนพิเศษเล็กน้อยในยามว่าง แต่เธอได้ใช้เวลาส่วนใหญ่ทำงานวิจัยคณิตศาสตร์ร่วมกับ Ernst Fischer ศึกษาวิเคราะห์ปัญหาต่างๆ ตามแนวคิดของ Hilbert จนชื่อเสียงของเธอเริ่มปรากฏในอิตาลี เยอรมนีและออสเตรเลีย
ผลงานของเธอทำให้ Hilbert และ Klein รู้สึกประทับใจมาก จึงได้เชิญเธอให้มาทำงานวิจัยร่วมกันที่มหาวิทยาลัย Gottingen และพยายามหาตำแหน่งอาจารย์ให้ แต่ก็ถูกบรรดาอาจารย์นักคณิตศาสตร์ชายในมหาวิทยาลัยต่อต้าน โดยอ้างว่าเธอเป็นผู้หญิง การอ้างเช่นนี้ ได้ทำให้ Hilbert เดือดดาลมากจนถึงกับกล่าวว่า
“มหาวิทยาลัยไม่ควรแบ่งแยกบุคคลโดยใช้เกณฑ์เพศ เพราะมหาวิทยาลัยไม่ใช่ห้องน้ำที่ต้องแบ่งแยกเพศของคนที่มาใช้สถานที่”
ถึงกระนั้น Hilbert ก็ยังขอร้องให้เธอเป็นอาจารย์ช่วยสอนของเขา โดยในตารางสอนของ Hilbert จะมีชื่อของ Noether ในฐานะอาจารย์ผู้ช่วยปรากฏอยู่
แม้ว่าเธอจะมีชื่อเสียงและประสบความสำเร็จสูง แต่มหาวิทยาลัยในเยอรมนีก็ยังไม่ยอมรับเธอเข้าทำงานเป็นอาจารย์ จนกระทั่งเธออายุ 37 ปี มหาวิทยาลัย Gottingen จึงตอบรับเธอเป็นอาจารย์ และอีก 3 ปีต่อมา เธอก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นรองศาสตราจารย์กิตติมศักดิ์โดยไม่มีภาระหน้าที่สอนใดๆ และไม่มีเงินเดือนให้ด้วย ถึงกระนั้น Noether ก็ยังรู้สึกดีที่ได้เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ให้นิสิตปริญญาเอกหลายคน
ในปี พ.ศ. 2471 เธอได้รับคำเชิญให้ไปบรรยายที่ International Congress ซึ่งจัดที่เมือง Bologna ในอิตาลี
เธอได้รับการเชื้อเชิญให้ไปสอนที่มหาวิทยาลัย Moscow ในรัสเซีย
และในปี พ.ศ. 2475 เธอได้รับเชิญให้เป็นองค์ปาฐกนำในการประชุม International Congress ที่เมือง Zurich ในสวิตเซอร์แลนด์
ในช่วงที่กองทัพนาซีเรืองอำนาจ บรรดาเจ้าหน้าที่รัฐที่มีเชื้อสายยิวถูกไล่ออกจากมหาวิทยาลัย ทำเธอได้ครุ่นคิดว่า จะต้องจัดการชีวิตของตนใหม่โดยการอพยพไปทำงานที่รัสเซีย แต่ในขณะเดียวกันบรรดานักคณิตศาสตร์ชาวอเมริกันก็ได้พยายามเชิญให้เธอเดินทางไปเป็นอาจารย์ที่วิทยาลัย Bryn Mawr ในรัฐ Pennsylvania ด้วย โดยได้รับเงินสนับสนุนจากมูลนิธิ Rockyfeller ตามคำรับรองของ N. Wiener ซึ่งเธอได้ตัดสินใจไปเป็นอาจารย์ภาควิชาคณิตศาสตร์ที่ Bryn Mawr โดยเธอทำหน้าที่สอนวิชาพีชคณิตนามธรรมให้แก่นิสิต 4 คน โดยสอนเป็นภาษาเยอรมันปนอังกฤษ
หลังจากที่ทำงานในอเมริกาได้นาน 1 ปี Noether ได้กลับไปเยี่ยมบ้านเกิดที่เยอรมนี เธอรู้สึกตกใจมากที่ได้เห็นสภาพความเสื่อมโทรมของบ้านเมือง หลังจากที่เธอกลับมาอเมริกาได้ไม่นาน เธอเข้ารับการผ่าตัดเนื้องอกในมดลูก และเสียชีวิตในวันที่ 14 เมษายน 2478 ขณะอายุ 53 ปี
Be the first to comment