โรคคอตีบ คืออะไร? รู้จักสาเหตุ,อาการ,การรักษา และการป้องกัน #โรคคอตีบ

หลังจากที่มีข่าวในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม 2562 จากทางกรมควบคุมโรค ได้มีการเผยแพร่พยากรณ์โรคและภัยสุขภาพประจำสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 28 ก.ค. – 3 ก.ย. 2562 เตือนพ่อแม่ ผู้ปกครองระวังโรคคอตีบในบุตรหลาน โดยระบุว่า จากการเฝ้าระวังสถานการณ์โรคคอตีบในประเทศไทยปี 2562 มีการรายงานผู้ป่วยแล้ว 15 ราย เสียชีวิต 1 ราย ทำให้หลายคนอาจจะอยากทราบว่า โรคคอตีบคืออะไร? มีลักษณะอาการ และการป้องกันโรคนี้ได้อย่างไร? ทาง Zcooby ขอนำเสนอข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับโรคนี้

โรคคอตีบ คืออะไร?

โรคคอตีบ (Diphtheria) เป็นโรคติดเชื้อเฉียบพลันของระบบทางเดินหายใจ มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Corynebacterium diphtheriae ซึ่งทำให้เกิดการอักเสบ มีแผ่นเยื่อเกิดขึ้นในลำคอ เกิดการตีบตันของทางเดือนหายใจ และจากพิษ (exotoxin) ของเชื้อจะทำให้มีอันตรายต่อกล้ามเนื้อหัวใจ และเส้นประสาทส่วนปลาย ซึ่งถ้าเป็นรุนแรงจะทำให้เป็นอัมพาตและเสียชีวิตได้

การติดต่อของโรคนี้ เชื้อจะพบอยู่ในคนเท่านั้น โดยจะพบอยู่ในจมูกหรือลำคอของผู้ป่วยหรือผู้ติดเชื้อโดยไม่มีอาการ และสามารถติดต่อกันได้ง่าย โดยการได้รับเชื้อจากการไอ จามรดกัน หรือพูดคุยในระยะใกล้ชิด เชื้อจะเข้าสู่ผู้สัมผัสทางปากหรือทางการหายใจ บางครั้งอาจติดต่อกันได้โดยการใช้ภาชนะร่วมกัน เช่น แก้วน้ำ ช้อน หรือการดูดอมของเล่นร่วมกันในเด็ก

ทำไมถึงเรียกว่า โรคคอตีบ?

เนื่องจากโรคนี้ ในรายที่รุนแรงจะมีการตีบตันของทางเดินหายใจ จึงได้ชื่อว่าโรคคอตีบ

ลักษณะการอาการของผู้ป่วยโรคคอตีบ

  • มีอาการไข้ต่ำ ๆ
  • มีอาการคล้ายหวัดในระยะแรก มีอาการไอเสียงก้อง เจ็บคอ
  • เบื่ออาหาร ในเด็กโตอาจจะบ่นเจ็บคอคล้ายกับคออักเสบ
  • บางรายอาจจะพบต่อมน้ำเหลืองที่คอโต
  • ตรวจดูในคอพบแผ่นเยื่อสีขาวปนเทาติดแน่นอยู่บริเวณทอนซิลและบริเวณลิ้นไก่

การรักษาโรคคอตีบ

เมื่อสงสัยว่าเป็นโรคคอตีบ ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที เพราะแพทย์จะต้องรีบให้การรักษาโดยเร็ว ผลการรักษาจะได้ผลหรือไม่ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่ป่วยก่อนจะได้รับการรักษา

การป้องกันโรคคอตีบ

  1. ให้วัคซีนป้องกันคอตีบ 5 ครั้ง เมื่ออายุ 2, 4, 6 และ 18 เดือน 4 ปี และกระตุ้นอีกครั้งหนึ่งเมื่อเด็กเข้าโรงเรียนชั้นประถมปีที่ 6
  2. กรณีผู้ป่วยที่หายจากโรคคอตีบแล้วอาจไม่มีภูมิคุ้มกันโรคเกิดขึ้นเต็มที่ จึงอาจเป็นโรคคอตีบซ้ำได้อีก ดังนั้นจึงต้องให้วัคซีนป้องกันโรค (DTP หรือ dT) แก่ผู้ป่วยที่หายแล้วทุกคน
  3. เนื่องจากโรคคอตีบติดต่อกันได้ง่าย ดังนั้นผู้สัมผัสโรคใกล้ชิดที่ไม่มีภูมิคุ้มกัน โรคจะติดเชื้อได้ง่าย จึงควรได้รับการติดตามดูอาการอย่างใกล้ชิด โดยทำการเพาะจากลำคอ และติดตามดูอาการ 7 วัน พร้อมใช้ยาปฏิชีวนะ ในกรณีที่มีผลเพาะเชื้อกลับมา และไม่พบเชื้อคอตีบ พิจารณาให้หยุดยาได้

Be the first to comment

Leave a comment

Your email address will not be published.


*


This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.