เนื่องจากวันนี้ (20 พฤษภาคม 2557) มีการประกาศการบังคับใช้ พระราชบัญญัติ กฎอัยการศึก เพื่อให้เกิดความสงบสุข ป้องกันความวุ่นวายที่อาจจะเกิดขึ้นในสังคม หลายคนเลยอาจจะสงสัยหรือสับสนว่า ระหว่าง กฎอัยการศึก,พ.ร.ก. ฉุกเฉิน และ พ.ร.บ. ความมั่นคง แตกต่างกันอย่างไรบ้าง วันนี้ Zcooby เลยอยากจะขอเอาข้อมูลที่น่าสนใจมาเล่าให้ฟังนะครับ
พระราชบัญญัติ กฎอัยการศึก คืออะไร?
พ.ร.บ. เป็นกฎหมายซึ่งได้ตราขึ้นไว้สำหรับประกาศใช้เมื่อมีเหตุจำเป็นเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง เช่น ในกรณีเกิดสงคราม การจลาจล ในเขตที่ประกาศใช้กฎอัยการศึก เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจหน้าที่เหนือเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนในส่วนที่เกี่ยวกับการยุทธ์ การระงับปราบปรามหรือการรักษาความสงบเรียบร้อย และศาลทหารมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาบางอย่างที่ประกาศระบุไว้แทนศาลพลเรือน
พระราชกำหนด ฉุกเฉิน คืออะไร?
สถานการณ์ฉุกเฉิน คือ สถานการณ์อันอาจเป็นภัยต่อความมั่นคงหรือความปลอดภัยแห่งรัฐ หรืออันอาจทำให้รัฐตกอยู่ในภาวะคับขันหรือภาวะการรบหรือการสงคราม ซึ่งฝ่ายบริหารรัฐมีอำนาจประกาศว่าพื้นที่ใดกำลังตกอยู่ในสถานการณ์เช่นว่าโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายของรัฐนั้น ๆ ซึ่งให้อำนาจพิเศษในการจัดการสถานการณ์ฉุกเฉิน และมักเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล อย่างไรก็ดี กฎหมายว่าด้วยสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นกฎหมายที่ให้อำนาจพิเศษแก่เจ้าหน้าที่ไม่เบ็ดเสร็จเท่ากฎอัยการศึกหรือกฎหมายที่ใช้ในสภาวะสงคราม
พระราชบัญญัติ ความมั่นคง คืออะไร?
เหตุผลหลักในการประกาศใช้ พ.ร.บ. ดังกล่าว คือ ต้องการป้องกันและปราบปรามสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร อาทิ การชุมนุมที่มีแนวโน้มยกระดับความรุนแรงมากขึ้น เป็นต้น ซึ่งทางคณะรัฐมนตรีจะมีมติให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เป็นผู้รับผิดชอบในการจัดการเรื่องนี้ โดยการประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ จะกำหนดพื้นที่ที่ประกาศใช้ และระยะเวลาที่ใช้เอาไว้ พร้อมกับกำหนดข้อห้ามต่าง ๆ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย
*********************************
ความแตกต่างของ กฎอัยการศึก,พ.ร.ก. ฉุกเฉิน และ พ.ร.บ. ความมั่นคง
หากจะให้เห็นภาพของความแตกต่างง่ายๆ ของ กฎอัยการศึก,พ.ร.ก. ฉุกเฉิน และ พ.ร.บ. ความมั่นคง ให้เข้าใจง่าย Zcooby ขอใช้ภาพนี้เป็นข้อมูลให้คุณผู้อ่านเข้าใจง่ายขึ้นนะครับ
เหตุที่ประกาศ (สาเหตุในการประกาศใช้)
- กฎอัยการศึก – เมื่อเกิดเหตุสงครามหรือจลาจล
- พ.ร.ก. ฉุกเฉิน – เมื่อเกิดภาวะคับขัน มีการใช้กำลังหรือประทุษร้ายรุนแรง
- พ.ร.บ. ความมั่นคง – เมื่อเกิดปรากฎเหตุการณ์ที่เป็นภัยต่อความมั่นคง
เจ้าหน้าที่ (ใครเป็นผู้ดำเนินการเป็นหลัก)
- กฎอัยการศึก – ทหารมีอำนาจเหนือพลเรือน
- พ.ร.ก. ฉุกเฉิน – เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นหลัก (เว้นแต่ในปี 2553 ทหารเป็นกำลังหลัก)
- พ.ร.บ. ความมั่นคง – เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นหลัก
ความผิดของเจ้าหน้าที่ (สามารถฟ้องร้องได้หรือไม่?)
- กฎอัยการศึก – ยกเว้นความผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญาและทางวินัย
- พ.ร.ก. ฉุกเฉิน – ไม่สามารถฟ้องร้องเจ้าหน้าที่ได้
- พ.ร.บ. ความมั่นคง – สามารถฟ้องร้องเจ้าหน้าที่ได้
การชุมนุม (สามารถทำได้หรือไม่?)
- กฎอัยการศึก – ไม่สามารถทำการชุมนุมได้
- พ.ร.ก. ฉุกเฉิน – ไม่สามารถทำการชุมนุมได้
- พ.ร.บ. ความมั่นคง – ชุมนุมได้
หวังว่า บทความนี้จะช่วยให้คุณมีความเข้าใจเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับเรื่องนี้นะครับ
Be the first to comment