ในตอนนี้คำๆ หนึ่งคนทั่วไปได้ยินอยู่บ่อยๆ ก็คือคำว่า CPTPP หลายคนอาจจะสงสัยว่า CPTPP คืออะไร? รวมถึงผลได้ ผลเสียที่อาจจะเกิดขึ้นเมื่อประเทศไทยตัดสินใจเข้าร่วม ทาง Zcooby ขอนำเสนอให้ทราบครับ
CPTPP คืออะไร? ย่อมาจากคำว่าอะไร?
CPTPP ย่อมาจากคำว่า Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership หากแปลเป็นไทย CPTPP คือ “ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก”
CPTPP เป็นความตกลงการค้าเสรีที่ครอบคลุมในเรื่องการค้า การบริการ และการลงทุนเพื่อสร้างมาตรฐานและกฎระเบียบร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิก ทั้งในประเด็นการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา มาตรฐานแรงงาน กฎหมายสิ่งแวดล้อม รวมถึงกลไกแก้ไขข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลและนักลงทุนต่างชาติ
ความตกลง CPTPP ไม่ใช่การจัดตั้งขึ้นมาใหม่ แต่เป็นการปรับโฉมจากความตกลง TPP (Trans-Pacific Partnership) โดยมีประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นสมาชิกด้วย แต่หลังจากที่สหรัฐอเมริกาได้ถอนตัวออกไปเมื่อปี 2560 ประเทศสมาชิกที่เหลือก็ตัดสินใจเดินหน้าความตกลงต่อ โดยใช้ชื่อใหม่ว่า CPTPP ซึ่งแตกต่างจาก TPP ตรงที่มีขนาดเศรษฐกิจและการค้าเล็กลง และมีกฎเกณฑ์ที่ผ่อนคลายมากขึ้น
ณ ตอนนี้ (27 เมษายน 2563) มีสมาชิก CPTPP ทั้งหมด 11 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น แคนาดา เม็กซิโก เปรู ชิลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน และเวียดนาม
โดยมีอีกหลายประเทศให้ความสนใจที่จะเข้าร่วมไม่ว่าจะเป็นเกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ศรีลังกา ไต้หวัน รวมถึงประเทศไทย
ข้อดี ข้อเสีย ของ CPTPP หากประเทศไทยเข้าร่วม
ข้อมูลจาก เพจ ธนาคารแห่งประเทศไทย
ข้อดี CPTPP
1. ด้านการส่งออก : เพิ่มโอกาสการส่งออกของไทยไปยังประเทศสมาชิก CPTPP โดยเฉพาแคนาดาและเม็กซิโก ซึ่งไทยยังไม่มีข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ด้วย
2. ด้านการลงทุนจากต่างประเทศ : ดึงดูดการลงทุนที่ต้องการใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกไปยังประเทศสมาชิก
3. ด้านแรงงาน และสิ่งแวดล้อม : การปรับปรุงกฎระเบียบภายในประเทศ เกี่ยวกับการคุ้มครองแรงงาน การอนุรักษ์ทรัพยากร และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานของ CPTPP จะเป็นผลบวกกับไทยในระยะยาว
ข้อเสีย CPTPP
1. ด้านทรัพย์สินทางปัญญา : เกษตรกรไทยอาจต้องเผชิญกับต้นทุนการเกษตรที่สูงขึ้นจากอนุสัญญาการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (UPOV) ที่จะต้องซื้อเมล็ดพันธุ์พืชจากบริษัทข้ามชาติรายใหญ่ที่ได้ลิขสิทธิ์ในพันธุ์พืชนั้นๆ
2. ด้านธุรกิจบริการ : เงื่อนไขการเจรจาแบบ Negative list คือ ประเทศสมาชิกสามารถระบุหมวดธุรกิจบริการที่ไม่ต้องการเปิดเสรีได้ ส่วนหมวดธุรกิจบริการอื่นๆ ที่ไม่ได้อยู่ในเงื่อนไขจะต้องเปิดเสรีต่อนักลงทุนต่างชาติ จึงอาจมีแรงกดดันให้ไทยต้องเปิดตลาดบริการมากขึ้น
3. ด้านการลงทุน : เปิดโอกาสทางการแข่งขันให้นักลงทุนต่างชาติมากขึ้น ไทยต้อง
เตรียมรับมือกับการรุกตลาดของต่างชาติ และนักลงทุนต่างชาติสามารถฟ้องรัฐบาลไทยผ่านกระบวนการอนุญาโตตุลาการได้
Be the first to comment