สำหรับผู้ใช้งาน Google อาจจะเห็นภาพของภูเขาลูกหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หลายคนอาจจะอยากทราบว่า ภูเขารูปนี้อยู่ที่ไหน? ทาง Zcooby หาข้อมูลนี้ให้ทราบ พร้อมทั้งข้อมูลวันคุ้มครองโลกครับ
ภูเขาในหน้าแรกกูเกิ้ลคือภูเขาอะไร? อยู่ที่ไหน?
ภาพการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของภูเขาที่เห็นในหน้าแรกของ google วันที่ 22 เมษายน 2565 นั้นคือ ยอดเขาคิลิมันจาโร (Mount Kilimanjaro) ตั้งอยู่ในเขตประเทศแทนซาเนียใกล้พรมแดนประเทศเคนยา ลักษณะเป็นภูเขาไฟยอดเดี่ยวที่สูงที่สุดในโลก และเป็นเขาที่สูงที่สุดในทวีปแอฟริกาอีกด้วย มีความสูงกว่า 5,895 เมตร
โดยชื่อภูเขามาจากภาษาสวาฮีลี หมายความว่า “ภูเขาที่ทอแสงแวววาว”
เขาคิลิมันจาโร ตรงบริเวณยอดเขามียอดเขาด้วยกัน 5 ยอด เรียงตามลำดับความสูง คือ
- ยอดคีโบ เป็นยอดที่สูงที่สุดในแอฟริกา มีความสูง 5,895 เมตร มีโพรงลึกเป็นรูปกรวยลึกถึง 113 เมตร (370 ฟุต) แนวลึกด้านตรง 122 เมตร (400 ฟุต) มีร่องรอยของการคุกกรุ่น ไม่หมดเชื้อยังคงมีควันปรากฏอยู่และมีกลิ่นกำมะถัน
- ยอดมาเวนซี มีความสูง 5,353 เมตร อยู่ติดกับยอดคีโบ รูปกรวยของยอดมาเวนซี ได้ถูกตบแต่งให้เป็นขั้นเป็นหลืบชั้น สำหรับให้นักไต่เขาได้ฝึกความชำนาญ
- ยอดชีรา มีความสูง 3,778 เมตร
- ยอดกากา มีความสูง 458 เมตร
- ยอดชี มีความสูง 78 เมตร
บริเวณฐานเขามีความยาวกว่า 100 กิโลเมตร และกว้างถึง 75 กิโลเมตร เป็นภูเขาไฟที่ดับแล้ว บริเวณยอดเขามีธารน้ำแข็งขนาดใหญ่ยาวกว่า 4,500 เมตร เป็นธารน้ำแข็งที่ใหญ่ที่สุดในทวีปแอฟริกา และเป็นเพียงภูเขาไม่กี่ลูกในแอฟริกาที่มีธารน้ำแข็ง โดยเฉพาะภูเขาที่ใกล้กับเส้นศูนย์สูตรจะหาได้น้อยมากที่จะมีธารน้ำแข็งแบบเดียวกันนี้
เขาคิลิมันจาโรได้กำเนิดขึ้นเมื่อหลายล้านปีที่แล้ว โดยมีการคาดการณ์ว่าเคยเกิดระเบิดใหญ่ถึง 3 ครั้ง จึงทำให้มียอดเขา 3 ลูกดังที่กล่าวข้างต้น ถูกค้นพบครั้งแรกโดยโยฮันเนิส เรพมัน และโยฮัน ลูทวิช ครัพฟ์ หมอสอนศาสนาชาวเยอรมัน ในปี ค.ศ. 1848
ดูการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของยอดเขาคิริมันจาโรผ่านทาง Google Earth >> ที่นี่
วันคุ้มครองโลกปี 2022
วันคุ้มครองโลก (อังกฤษ: Earth Day) ตรงกับวันที่ 22 เมษายนของทุกปี ประกาศโดยโครงการสิ่งแวดล้อมสหประชาชาติ (United Nations Environment Program “UNEP”) เมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2513
ในประเทศไทยได้มีการจัดกิจกรรมวันคุ้มครองโลกเป็นประจำทุกปี โดยหน่วยงานต่าง ๆ เช่น กรีนพีซ
นอกจากวันคุ้มครองโลก 22 เมษายนแล้ว ยังมีวันคุ้มครองโลกที่กำหนดขึ้นจากช่วงวิษุวัต (equinox) เช่นกัน วิษุวัตเป็นช่วงที่ในกลางวันและกลางคืนมีระยะเวลาเท่ากัน และเป็นการเริ่มต้นฤดูใบไม้ผลิในซีกโลกเหนือ และฤดูใบไม้ร่วงในซีกโลกใต้ โดยนับจากเหตุการณ์ธรรมชาติที่แกนขั้วโลกจะตั้งได้ฉากกับเส้นศูนย์สูตรมากที่สุด ในช่วงวันที่ 20-21 มีนาคมของทุกปี
ประวัติวันคุ้มครองโลก
วันคุ้มครองโลกนี้ เกย์ลอร์ด เนลสัน (Gaylord Nelson) สมาชิกวุฒิสภาสหรัฐอเมริกาเป็นผู้ริเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2505 ต่อมา สมาชิกวุฒิสภาเนลสันได้ตัดสินใจขอให้ประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี ยกเรื่องสิ่งแวดล้อมขึ้นเป็นวาระแห่งชาติ เคเนดีเห็นด้วยและได้ออกเดินสายทั่วประเทศ เป็นเวลา 5 วัน 11 รัฐ ในช่วงเดือนกันยายนพ.ศ. 2506 (ก่อนที่ประธานาธิบดีเคเนดีจะถูกลอบยิงเสียชีวิต) การเดินสายครั้งนั้นนับเป็นจุดเริ่มต้นของการริเริ่มวันคุ้มครองโลก จนในปี พ.ศ. 2512 สมาชิกวุฒิสภาเนลสันได้ผลักดันให้มีการจัดการชุมนุมประชาชนระดับรากหญ้าทั่วประเทศขึ้น เพื่อให้แสดงความคิดเห็นในปัญหาสิ่งแวดล้อม และได้เชิญชวนให้ทุก ๆ คนร่วมการชุมนุมเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดกระแสความห่วงใยในวิกฤตสิ่งแวดล้อมที่เป็นอยู่ของสังคมอเมริกันในขณะนั้น นำสู่ความสำเร็จของการก่อตั้งวันคุ้มครองโลกขึ้นต่อมา
Be the first to comment