ต่อมบาร์โธลิน คืออะไร? รู้จักอาการต่อมบาร์โธลินอักเสบ (สาเหตุ,วิธีการรักษา)

หลังจากที่มีสตรีท่านหนึ่งได้ออกมาโพสต์เตือนภัยเรื่องความเจ็บป่วยกว่า 6 ปีกับอาการต่อมบาร์โธลินอักเสบ หลายคนจึงอาจจะสงสัยว่าต่อมบาร์โธลินคืออะไร อยู่ตรงไหนของร่างกาย สาเหตุและการรักษารวมถึงการป้องกันโรคต่อมบาร์โธลินอักเสบมีรายละเอียดอย่างไรบ้าง? วันนี้ Zcooby หาคำตอบมาแนะนำครับ

ต่อมบาร์โธลิน คืออะไร?

ต่อมบาร์โธลินนั้นจะอยู่ที่บริเวณปากช่องคลอดแต่ละด้าน ทำหน้าที่ผลิตสารหล่อลื่นภายในช่องคลอด เพื่อช่วยป้องกันเนื้อเยื่อช่องคลอดระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ โดยปกติแล้วจะไม่สามารถคลำเจอได้

ลักษณะของต่อมบาร์โธลินจะเป็นต่อมขนาดเล็กคล้ายเมล็ดถั่ว มีอยู่ด้วยกันสองข้างฝั่งซ้าย-ขวาในบริเวณแคมใหญ่ ในต่อมบาร์โธลินจะมีท่อยาวประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร ยื่นเข้าไปในบริเวณปากช่องคลอดเพื่อคอยส่งเมือกเข้าไปหล่อลื่นช่องคลอด

อาการต่อมบาร์โธลินอักเสบ คือ ภาวะต่อมบาร์โธลินที่ช่วยในการผลิตเมือกตรงบริเวณปากช่องคลอดเกิดการอุดตัน ทำให้เมือกที่สร้างออกจากต่อมบาร์โธลินเกิดการสะสมของเมือกมากขึ้นเรื่อยๆ และเกิดเป็นถุงน้ำตรงบริเวณปากช่องคลอด ทั้งนี้ต่อมบาร์โธลินจะมีอยู่สองข้างและมักพบการอักเสบได้ทีละข้าง หากมีขนาดใหญ่ขึ้นและมีการอักเสบจะรู้สึกเจ็บได้ ในบางรายอาจเกิดการติดเชื้ออักเสบ เป็นฝีหนองตามมาทำให้เกิดอาการเจ็บปวดมากบริเวณที่เป็น


สาเหตุของต่อมบาร์โธลินอักเสบ

  • เกิดการติดเชื้อบริเวณอวัยวะเพศ
  • โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  • การมีเพศสัมพันธ์อย่างรุนแรง
  • ใส่กางเกงรัดแน่นจนเกินไป
  • นั่งในท่าเดิมนานๆ

ลักษณะอาการต่อมบาร์โธลินอักเสบ

  • มีอาการบวม แดง แสบร้อนและอาจมีหนอง
  • รู้สึกเจ็บปวดบริเวณก้อนที่นูน บางท่านอาจถึงขั้นนั่งไม่ได้
  • อาจมีไข้

วิธีการรักษาอาการต่อมบาร์โธลินอักเสบ

ระยะแรกหากคลำพบถุงน้ำขนาดเล็กและไม่มีอาการเจ็บ ให้รักษาด้วยตัวเองโดยการแช่น้ำอุ่นวันละ 2 ครั้ง ครั้งละ 20 นาที ประมาณ 2-3 วัน ซึ่งความร้อนอาจจะทำให้ถุงน้ำยุบลงได้

แต่หากมีอาการปวดบวม และมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ให้รีบมาพบแพทย์ แพทย์จะทำการรักษา เริ่มจากการให้ยาฆ่าเชื้อ

ถ้าไม่ดีขึ้น ก็จะทำการเจาะหรือกรีดเพื่อระบายหนองออก โดยจะมีการฉีดยาชาก่อนใช้เวลาประมาณ 30 นาทีก็สามารถกลับบ้านได้ โดยไม่ต้องพักฟื้น


วิธีการป้องกันต่อมบาร์โธลินอักเสบ

  1. รักษาความสะอาดบริเวณอวัยวะเพศให้สะอาดอยู่เสมอ
  2. ช่วงมีประจำเดือนควรเปลี่ยนผ้าอนามัยบ่อยๆ
  3. ไม่ใส่กางเกงที่รัดแน่นเกินไป
  4. หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์แบบรุนแรง
  5. ไม่นั่งท่าเดิมนานๆ

Be the first to comment

Leave a comment

Your email address will not be published.


*


This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.