เปิดแอร์นอนในรถ ทำไมถึงเสียชีวิตได้?

หลังจากที่มีข่าวเกี่ยวกับการเสียชีวิตเนื่องจากการจอดรถเปิดแอร์นอนในรถ ทำให้หลายคนสงสัยว่า ทำไมถึงเสียชีวิตได้ และวิธีการป้องกันควรจะทำอย่างไรดี?

 

หากคุณเคยสังเกต จะพบว่า ทำไมเวลาที่รถติดไฟแดงเป็นเวลาหลายชั่วโมง เราผู้ขับหรือผู้โดยสารในรถมักจะเริ่มมีอาการปวดหัว และรู้สึกไม่ค่อยสบายตัวเท่าไรนัก ส่วนหนึ่งมาจากการที่เราได้รับก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์โดยไม่รู้ตัว

ดังนั้นถ้าหากเราติดเครื่องยนต์ เปิดแอร์นอนในรถแล้ว อาจมีอันตรายถึงชีวิตโดยไม่รู้ตัว

พล.ต.ต. นพ.พรชัย สุธีรคุณ ผู้บังคับการสถาบันนิติเวช โรงพยาบาลตำรวจ เผยว่า ผลชันสูตรศพของผู้ที่เสียชีวิตจากการนอนหลับในรถยนต์ส่วนใหญ่นั้นจะมีปริมาณก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) ในเลือดสูงมาก และเลือดเป็นสีชมพู ซึ่งเรียกว่า “เชอร์รีพิงค์” ทำให้สภาพศพของผู้ตายเป็นสีแดงชมพูทั้งตัว สาเหตุเพราะร่างกายมีปริมาณก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์มากเกินปกติ

ทำไมเมื่อเปิดแอร์นอนในรถ ถึงเสียชีวิตได้

การเปิดแอร์นอนเพื่อพักผ่อนนั้น เป็นภัยร้ายใกล้ตัวที่หลายคนมองข้าม

เพราะในขณะที่เราสตาร์ทเครื่องยนต์ทิ้งไว้ ปิดกระจกมิดชิด และเอนเบาะนอนนั้น เท่ากับเป็นการนอนดมก๊าซพิษในรถ

โดยที่ก๊าซพิษเหล่านั้นจะไหลเวียนมาจากระบบแอร์ของรถยนต์ ที่มีการดูดอากาศจากภายนอก มาหมุนเวียนภายในรถ และจะดูดเอาควันจากท่อไอเสียรถยนต์เข้ามาด้วย

นั่นหมายความว่า ร่างกายจะสะสมทั้งก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์และคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณสูงขึ้นเรื่อย ๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ยิ่งถ้าหากติดเครื่องยนต์ เปิดแอร์นอนในสถานที่ปิด เช่น ลานจอดรถบนอาคาร ก็จะยิ่งทำให้เรามีโอกาสเสียชีวิตมากขึ้นกว่าเดิมอีก เนื่องจากมีปริมาณก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์เข้ามาภายในรถ

สาเหตุของการเสียชีวิต

อันตรายของการสูดดมก๊าซคาร์บอนไซด์ขณะนอนเปิดแอร์ในรถก็คือ หากมีการสะสมก๊าซชนิดนี้ในร่างกายปริมาณมาก จะส่งผลให้ระดับฮีโมโกลบินในร่างกายของเราให้ลดต่ำลงด้วย เราจะเกิดอาการระคายเคือง ปวดศีรษะ เซื่องซึม เคลิบเคลิ้ม สั่นกระตุก หายใจติดขัด หัวใจเต้นผิดปกติ และมีผลกระทบต่อระบบประสาทส่วนกลางจนอาจถึงขั้นเสียชีวิตในที่สุด

นอกจากนี้แล้วก็ยังมีสาเหตุอื่น ๆ อีกด้วยเช่นกัน  สาเหตุการเสียชีวิตในรถยนต์มี 2 สาเหตุหลัก คือ

  1. ขาดอากาศหายใจแล้วเสียชีวิต
  2. ร่างกายเกิดภาวะฮีทสโตรก (Heat stroke) หรือโรคลมแดด เพราะร่างกายได้รับความร้อนเกินไป

ขาดอากาศหายใจแล้วเสียชีวิต – เกิดจากการที่ร่างกายได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ ซึ่งโดยปกติแล้วห้องโดยสารรถยนต์จะมียางขอบประตู 2 ชั้น ป้องกันกลิ่นและเสียงเข้ามาในรถ ส่งผลให้ห้องโดยสารภายในถูกตัดขาดจากอากาศภายนอกโดยสิ้นเชิง จึงมีออกซิเจนในปริมาณที่จำกัด หากเราติดเครื่องยนต์นอนในรถยนต์โดยที่ไม่มีอากาศหมุนเวียนภายในเลย ปริมาณออกซิเจนก็จะยิ่งน้อยลงไปเรื่อย ๆ เนื่องจากกระบวนการสันดาปของเครื่องยนต์จะอาศัยออกซิเจนเป็นตัวเผาไหม้ เวลาดึงออกซิเจนไปใช้ในกระบวนการเผาไหม้แล้ว ออกซิเจนในรถยนต์ก็จะน้อยลงไปเรื่อย ๆ ในขณะเดียวกันกระบวนการเผาไหม้ก๊าซคาร์บอนจะปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ออกมา ทำให้คนที่นอนอยู่ในรถขาดอากาศหายใจ แล้วเสียชีวิตในเวลาต่อมา

ร่างกายเกิดภาวะฮีทสโตรก (Heat stroke) หรือโรคลมแดด – เป็นผลมาจากการนอนในรถที่จอดรถกลางแดดแรงจัด ร่างกายได้รับความร้อนสูง จากรังสีคลื่นยาวที่ถูกบล็อกไม่ให้สะท้อนกลับออกไป ทำให้ภายในห้องโดยสารมีความร้อนอบอวลอยู่สูงถึงประมาณ 800 วัตต์ต่อตารางเมตร โดยที่อากาศภายในรถยนต์จะมีอุณหภูมิสูงมากกว่าภายนอกถึง 20 องศาเซลเซียส แน่นอนว่า เราไม่สามารถทนความร้อนได้สูงขนาดนั้น เพราะอุณหภูมิสูงกว่า 40 องศาเซลเซียสจะทำให้ร่างกายเกิดภาวะการขาดน้ำ โดยเฉพาะร่างกายของเด็กจะรับเอาไอความร้อนมากกว่าผู้ใหญ่ประมาณ 3-5 เท่า และสามารถเสียชีวิตภายในเวลา 30 นาที

แล้วเราจะเปิดแอร์นอนในรถอย่างไรให้ปลอดภัย

1. เปิดกระจกรถยนต์ หรือปรับโหมดเครื่องปรับอากาศรับอากาศภายนอกเข้ามา

2. ควรหาที่จอดในที่โล่ง และแง้มกระจกเล็กน้อย พอให้มือลอดเข้ามาไม่ได้

3. หมั่นเช็กขอบยางของประตูหน้าต่างรถว่าเสื่อมสภาพแล้วหรือยัง

4. ปรับโหมดเครื่องปรับอากาศบ้าง เพื่อกระตุ้นให้ไฟฟ้าทำงาน

5. หากร่างกายของเราเจ็บป่วย อ่อนเพลีย และเมามาก ควรหลีกเลี่ยงการนอนหลับในรถ

6. กรณีที่รถจอดติดนาน ๆ ก๊าซก็อาจจะไหลเข้ามาในรถได้ทำให้เรารู้สึกง่วงนอน ดังนั้นควรเปิดกระจกระบายอากาศบ้าง

Be the first to comment

Leave a comment

Your email address will not be published.


*


This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.