บรรหาร ศิลปอาชา คือใคร? (พร้อมประวัติและผลงาน)

หลังจากที่มีข่าว นายบรรหาร ศิลปอาชา นักการเมืองชื่อดังเสียชีวิตเมื่อเช้าวันเสาร์ที่ 23 เมษายน 2559 วันนี้ Zcooby ขอนำเสนอประวัติและผลงานที่น่าสนใจของบุคคลท่านนี้ เพื่อให้หลายคนที่อาจจะสงสัยว่าเขาคือใคร? ได้รู้จักมากขึ้นนะครับ

ประวัติ บรรหาร ศิลปอาชา

บรรหาร ศิลปอาชา คือใคร?

นายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นนักการเมืองชื่อดัง และเป็นอดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 21 ของประเทศไทย และอดีตหัวหน้าพรรคชาติไทย รวมทั้งเป็นอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุพรรณบุรีถึง 11 สมัย ซึ่งเป็นผู้ที่มีส่วนสำคัญเป็นอย่างมากในการพัฒนาความเจริญให้กับจังหวัดสุพรรณบุรี

ประวัติ บรรหาร ศิลปอาชา

ชื่อจริง : นายบรรหาร ศิลปอาชา (ชื่อเดิม นายเต็กเซียง แซ่เบ๊ (馬德祥)

สมญานาม : “มังกรสุพรรณ” หรือ “มังกรการเมือง” และเนื่องจากมีลักษณะคล้าย เติ้งเสี่ยวผิง อดีตผู้นำจีน สื่อมวลชนจึงนิยมเรียกนายบรรหารสั้น ๆ ว่า “เติ้ง” หรือ “เติ้งเสี่ยวหาร” และ”ปลาไหล”

วันเกิด 19 สิงหาคม พ.ศ. 2475 ที่จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นบุตรคนที่ 4 ในจำนวน 6 คน ของนายเซ่งกิม และนางสายเอ็ง แซ่เบ๊

เสียชีวิต จากภาวะหอบหืดกำเริบ เมื่อเช้ามืดของวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2559 ที่โรงพยาบาลศิริราช

อายุ 83 ปี 8 เดือน หรือย่าง 84 ปี

ด้านการศึกษา

  1. จบการศึกษาชั้นมัธยมที่โรงเรียนวัฒนศิลป์วิทยาลัย
  2. จบการศึกษาระดับปริญญาตรี นิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง
  3. จบการศึกษาระดับปริญญาโท นิติศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง
  4. จบการศึกษาระดับปริญญาเอก ครุศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาการบริหารการศึกษา สถาบันราชภัฏสวนสุนันทา

ในปี พ.ศ. 2553 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ ได้มอบปริญญาครุศาสตร์อุตสาหกรรมบัณฑิตกิตติมศักดิ์

ด้านครอบครัว สมรสกับคุณหญิงแจ่มใส ศิลปอาชา มีบุตร-ธิดารวม 3 คน เป็นชาย 1 คน คือ

  1. นายวราวุธ ศิลปอาชา (ชาย) สมรสกับ เก๋-สุวรรณา ไรวินท์ ทายาทตระกูลไรวินท์ เจ้าของธุรกิจ ซุปไก่ก้อนรีวอง
  2. น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา (หญิง)
  3. น.ส.ปาริชาติ ศิลปอาชา (หญิง)

640x390_594510_1412363151

ผลงานด้านการเมืองของนายบรรหาร ศิลปอาชา

เริ่มเข้าวงการเมืองโดยการชักชวนจากนายบุญเอื้อ ประเสริฐสุวรรณ

พ.ศ. 2516 – ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติและเป็นสมาชิกวุฒิสภา

พ.ศ. 2518 – เป็นสมาชิกวุฒิสภา

พ.ศ. 2519 – เริ่มลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสุพรรณบุรี (และได้รับเลือกตั้งเป็น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มาทุกสมัยที่มีการเลือกตั้ง)

พ.ศ. 2523 – ขึ้นดำรงตำแหน่ง เลขาธิการพรรคชาติไทย

พ.ศ. 2523 – เขาถูกนายพินิจ จันทรสุรินทร์ ส.ส. ลำปาง และพวกรวม 42 คน ยื่นคำร้องต่อคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ขอให้วินิจฉัยว่าเขาขาดคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรี เนื่องจากมีบิดาเป็นคนต่างด้าว และสำเร็จการศึกษาต่ำกว่ามัธยมศึกษาตอนปลาย แต่คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ มีมติให้ยกคำร้องดังกล่าว

พ.ศ. 2537 – ขึ้นดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคชาติไทย และเป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร สมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย

การดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี

ตลอดเวลาที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นายบรรหารได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีในหลายกระทรวง

  • รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในรัฐบาลหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช (พ.ศ. 2519)
  • รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์
  • รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ (5 สิงหาคม 2529 – 3 สิงหาคม 2531)
  • รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ (4 สิงหาคม 2531 – 9 มกราคม 2533)
  • รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ (มกราคม 2533 – ธันวาคม 2533)
  • รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ (14 ธันวาคม 2533 – 23 กุมภาพันธ์ 2534)
  • รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในรัฐบาล พลเอกสุจินดา คราประยูร (7 เมษายน 2535 – 9 มิถุนายน 2535)

การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2538 นายบรรหาร ศิลปอาชา ในฐานะหัวหน้าพรรคชาติไทย ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่มีสมาชิกของพรรคได้รับเลือกตั้งมากที่สุด ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ทำให้นายบรรหาร ได้ดำรงตำแหน่งเป็น นายกรัฐมนตรี คนที่ 21 ของประเทศไทย พร้อมควบตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย อีกตำแหน่งหนึ่งระหว่างเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2538 ถึง พฤศจิกายน พ.ศ. 2539

รัฐบาลนายบรรหาร มีผลงานที่โดดเด่นคือ การเริ่มร่างรัฐธรรมนูญฉบับ ปี พ.ศ. 2540 ฉบับที่ 16

พ.ศ. 2539 – เมื่อวันที่ 18-20 กันยายน นายบรรหารถูกพรรคฝ่ายค้าน นำโดยพรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายไม่ไว้วางใจโจมตีว่าการบริหารประเทศไร้ประสิทธิภาพ ไม่เป็นไปตามนโยบายที่แถลงไว้ ประกอบกับพรรคร่วมรัฐบาลได้แก่ พรรคความหวังใหม่ พรรคนำไทย และพรรคมวลชน ได้ขอให้เขาลาออกจากตำแหน่ง แต่เขาได้ตัดสินใจยุบสภา เมื่อวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2539 แทน

พ.ศ. 2548 เมื่อมีการเลือกตั้ง ทางพรรคชาติไทยซึ่งใช้สโลแกนหาเสียงว่า “สัจจะนิยม สร้างสังคมให้สมดุล” นายบรรหารในฐานะหัวหน้าพรรคได้ประกาศไว้ตั้งแต่ต้นแล้วว่า ไม่จะขอร่วมรัฐบาล นายทักษิณ ชินวัตร อีก ถ้าพรรคไทยรักไทยสามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้

พ.ศ. 2548 – พ.ศ. 2550 เกิดห้วงวิกฤตการณ์ทางการเมือง พรรคชาติไทยได้ทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้าน และร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์และพรรคมหาชน คว่ำบาตรการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2549

พ.ศ. 2550 – นายบรรหารได้ตอบคำถามผู้สื่อข่าวต่อคำถามที่ว่า จะไปร่วมกับพรรคพลังประชาชนซึ่งเป็นกลุ่มอำนาจเก่าจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่ นายบรรหารตอบว่า “จะไม่ทำให้ผู้ใหญ่ที่นับถือมา 30 ปี ผิดหวัง” ซึ่งนายบรรหารไม่ได้บอกว่าเป็นใคร แต่สาธารณะก็ตีความว่าหมายถึง พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ แต่เมื่อหลังการเลือกตั้งแล้ว ปรากฏว่านายบรรหารและพรรคชาติไทยก็ไปเข้าร่วมกับพรรคพลังประชาชนจัดตั้งรัฐบาล จึงทำให้นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ รองหัวหน้าพรรคได้ออกมาโจมตีและแฉพฤติกรรมนายบรรหารเป็นการใหญ่

นายบรรหารรวมทั้งนายวราวุธและนางสาวกัญจนาถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นระยะเวลาทั้งหมด 5 ปี เนื่องจากการยุบพรรคชาติไทย ซึ่งขณะนั้นนายบรรหารดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค

พ.ศ. 2557 เขาได้สมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคชาติไทยพัฒนา ลำดับที่ 1

Be the first to comment

Leave a comment

Your email address will not be published.


*


This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.