หลังจากที่มีงานวิจัยได้ระบุว่า สารสกัดจากเห็ดเมา หรือ เห็ดขี้ควาย (Magic Mushroom) มาใช้ในการบำบัดผู้ป่วยโรคซึมเศร้าขั้นรุนแรงให้หายได้ หลายคนอาจจะอยากทราบว่า เห็ดขี้ควายคืออะไร? มีสรรพคุณในการรักษาโรคซึมเศร้าได้จริงหรือ?
เห็ดขี้ควาย คืออะไร?
เห็ดขี้ควาย หรือ เห็ดวิเศษ (Magic mushroom) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Psilocybe cubensis อยู่ในวงศ์ Strophariaceae เป็นเห็ดที่มีฤทธิ์กับระบบประสาท มีขึ้นอยู่ตามกองมูลควายแห้ง สีของเห็ดจะมีสีเหลืองซีดคล้ายสีฟางแห้ง บนหัวของร่มจะมีสีน้ำตาลเข็มจนถึงสีดำ บริเวณก้าน ที่ใกล้จะถึงตัวร่ม จะมีแผ่นเนื้อเยื่อบาง ๆ สีขาวแผ่ขยายออกรอบก้าน แผ่นนี้มีลักษณะคล้ายวงแหวน
เห็ดขี้ควายมีขึ้นอยู่ทั่วไปแทบทุกภาคของประเทศไทย ลักษณะของเห็ดตัวสมบูรณ์และโตเต็มที่ ตรงบริเวณหมวกจะมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 6.5 – 8.8 เซนติเมตร ความสูงของลำต้นประมาณ 5.5 – 8.0 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 0.8 – 1.0 เซนติเมตร
อันตรายจากการรับประทานเห็ดขี้ควาย
ผู้ที่รับประทานเห็ดนี้ จะมีอาการมึนเมา ประสาทหลอน ไม่สามารถลำดับทิศทาง เห็นภาพ แสง สีต่างๆ ลวงตา มีความคิดและอารมณ์เปลี่ยนแปลงคล้าย แอลเอสดี ถ้ากินมากเกินไปอาจจะทำให้ควบคุมสติไม่อยู่ เกิดประสาทหลอนอย่างรุนแรง คลื่นไส้ อาเจียน อาจเสียชีวิตได้เพราะหายใจติดขัด คนที่เคยใช้มานาน ๆ จะเพลินต่อความรู้สึกต่าง ๆ นี้ ร่างกายจะเกิดการต้านยา ต้องเพิ่มขนาดการใช้ขึ้นเรื่อย ๆ ถ้ารับประทานดอกแห้งจะมึนเมาน้อยกว่าครึ่งเมื่อเทียบกับการรับประทานดอกสด อาการที่เกิดจากการกินเห็ดขี้ควายขึ้นอยู่กับปริมาณ และสภาพของร่างกายของแต่ละบุคคล
เห็ดขี้ควาย ยังถือว่าเป็นสารเสพติดในประเทศไทย
สำหรับในประเทศไทย ดอกเห็ด ก้านเห็ด สปอร์ของเห็ดดังกล่าว จัดเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 โดยผู้ใดผลิต ขาย นำเข้า หรือส่งออก ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2-15 ปี และปรับตั้งแต่ 200,000-1,500,000 บาท ขณะที่ผู้เสพจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
เห็ดขี้ควาย กับการรักษาโรคซึมเศร้า
โดยที่มาของข้อมูลนี้ มาจากงานวิจัยในวารสารทางการแพทย์ New England Journal of Medicine ลงวันที่ 3 พ.ย. 2022 เผยถึงผลการศึกษาในการนำไซโลไซบิน (Psilocybin) ซึ่งเป็นสารสกัดจากเห็ดเมา หรือ เห็ดขี้ควาย (Magic Mushroom) มาใช้ในการบำบัดผู้ป่วยโรคซึมเศร้าขั้นรุนแรง
โดยวิธีการรักษาคือ หลังจากให้ยาแล้ว จะให้ผู้ป่วยนอนลงบนเตียงภายในห้องที่เงียบสงบ จากนั้นผู้ป่วยจะอยู่ในสภาวะผ่อนคลาย และมีอาการคล้ายกับการฝันในขณะที่ยังตื่นอยู่ เป็นเวลา 6-8 ชั่วโมง
ผลการทดลองสรุปว่า ตัวยาขนาด 25 มิลลิกรัมให้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด โดย 1 ใน 3 ของกลุ่มตัวอย่างได้รับการวินิจฉัยว่าหายจากโรคซึมเศร้าใน 3 สัปดาห์ ขณะที่ 1 ใน 5 มีอาการดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดใน 12 สัปดาห์
Be the first to comment