เรียกว่า เป็นปัญหาที่ผู้ใช้รถใช้ถนนประสบเจอมานานแล้วกับปัญหาไฟซีนอนหรือไฟส่องสว่างจ้าแยงตา รบกวนการขับขี่ของผู้ใช้รถคันอื่น วันนี้ Zcooby ขออัพเดทข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ครับ เนื่องจากทางเจ้าหน้าที่ตำรวจเริ่มเอาจริงเอาจังในการจับกุมผู้ที่ทำการติดตั้งไฟซีนอนแล้วครับ
ไฟซีนอนคืออะไร?
ไฟซีนอน (Xenon) หรือที่เรียกว่า HID (HYPER INTENSITY DISCHARGE) เป็นหลอดไฟที่พัฒนามาจากหลอดไฮโดรเจน โดยหลอดซีนอนจะมีมีบาลาสต์ที่มีความเข้มของแสงมากกว่าไฮโดรเจนถึง 2 เท่า
ปัญหาที่เกิดขึ้นจากไฟซีนอน
เนื่องจากผู้ขับขี่บางคนบางคนต้องการให้ไฟหน้ารถตัวเองสว่างจึงไปซื้อหลอดซีนอนมาใส่ในโคมไฮโดรเจน ปัญหาคือ โคมไม่ได้ถูกออกแบบเพื่อรองรับไฟซีนอน ทำให้เกิดแสงจ้ารบกวนสายตาผู้ที่ใช้รถใช้ถนนสวนทางมาจะส่องกระทบหน้าและเกิดอุบัติเหตุขึ้น
แสงไฟซีนอน จะกระทบกับผู้ขับขี่ในระดับสายตา มีค่าส่องสว่างเกินมาตรฐาน สร้างความเดือดร้อนรำคาญให้กับผู้ที่ใช้ทางร่วมกันในยามค่ำคืน และอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เมื่อลำแสงที่ส่องออกจากไฟแต่งที่แรงเกินเหตุพุ่งเป็นลำสาดส่องเข้าไปแยงสายตาของรถยนต์ที่แล่นสวนทางมา
ไฟซีนอน ผิดกฎหมายหรือไม่
ความผิดในการติดตั้งไฟซีนอนที่มิได้ติดตั้งมาจากโรงงาน หรือดัดแปลงโดยมิได้นำรถไปตรวจกับนายทะเบียน (ตามมาตรา 14 แก้ไขดัดแปลงสภาพรถ) ถือเป็นความผิดตามพ.ร.บ.รถยนต์ มาตรา 12 อัตราโทษปรับไม่เกิน 2,000บาท
ติดตั้งไฟซีนอนอย่างไรให้ถูกกฏ?
พ.ร.บ.จราจรทางบก กำหนดให้ไฟหน้าของรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ทุกชนิดที่ใช้งานบนท้องถนนเป็นดังนี้
- จะต้องมีแสงสีขาว หรือเหลืองอ่อน (ค่า K ไม่เกิน 12,000 K เต็มที่)
- ติดตั้งสูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า 40 เซนติเมตร แต่ไม่เกิน 1.35 เมตร
- ความสว่างของแสงไฟสามารถส่องทางด้านหน้าได้อย่างชัดเจน และไม่เอียงไปทางขวาจนรบกวนสายตาผู้อื่น
- ต้องต่ำ ส่องไปแล้วมองเห็นในระยะ 30 เมตร และไฟสูงในระยะ 100 เมตร จะไม่เป็นการรบกวนสายตาผู้อื่น
- ให้ใช้ไฟสีขาว หรือสีเหลืองเท่านั้น หากไปใช้ไฟสีอื่นๆ นอกเหนือจากนี้ ก็ถือว่าผิดกฎหมาย
ไฟเลี้ยวหน้า กำหนดให้ใช้สีขาว หรือสีเหลืองทั้งสองข้าง ซ้ายและขวาต้องเป็นสีเดียวกัน
ไฟเลี้ยวด้านท้ายรถ กำหนดให้ใช้ไฟสีเหลือง หรือสีแดงก็ได้ แต่ห้ามใช้สีขาวอย่างเด็ดขาด
ตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบกข้อ 2 รถยนต์ต้องมีโคมไฟหน้ารถและโคมไฟท้ายรถ ดังต่อไปนี้
(1) โคมไฟหน้ารถมี 3 ประเภท คือ
- (ก) โคมไฟแสงพุ่งไกล ให้ติดหน้ารถข้างละหนึ่งดวงสูงจากพื้นทางราบถึงจุดศูนย์กลางดวงโคมไม่น้อยกว่า 0.60 เมตร แต่ไม่เกิน 1.35 เมตร โคมไฟทั้งสองข้างต้องอยู่ในระดับเดียวกัน ใช้ไฟแสงขาวมีกำลังไฟเท่ากันไม่เกินดวงละ 50 วัตต์ มีแสงสว่างให้เห็นพื้นทางได้ชัดเจนในระยะไม่น้อยกว่า 100 เมตร ศูนย์รวมแสงต้องไม่สูงกว่าแนวขนานกับพื้นทางราบ และไม่เฉไปทางขวา ในกรณีที่เป็นรถยนต์สามล้อให้ใช้โคมไฟประเภทนี้เพียงดวงเดียวโดยติดไว้ที่กลางหน้ารถ
- (ข) โคมไฟแสงพุ่งต่ำ ให้ติดหน้ารถข้างละหนึ่งดวง สูงจากพื้นทางราบถึงจุดศูนย์กลางดวงโคมไม่น้อยกว่า 0.60 เมตร แต่ไม่เกิน 1.35 เมตร โคมไฟทั้งสองข้างต้องอยู่ในระดับเดียวกัน ใช้ไฟแสงขาวมีกำลังไฟเท่ากันไม่เกินดวงละ 50 วัตต์ มีแสงสว่างให้เห็นพื้นทางได้ชัดเจนในระยะไม่น้อยกว่า 30 เมตร ศูนย์รวมแสงต้องอยู่ต่ำกว่าแนวขนานกับพื้นทางราบไม่น้อยกว่า 2 องศา หรือ 0.20 เมตร ในระยะ 7.50 เมตร และไม่เฉไปทางขวา ในกรณีที่เป็นรถยนต์สามล้อให้ใช้โคมไฟประเภทนี้เพียงดวงเดียว โดยติดไว้ที่กลางหน้ารถ
- (ค) โคมไฟเล็ก ให้ติดหน้ารถอย่างน้อยข้างละหนึ่งดวง โดยให้อยู่ด้านริมสุดแต่จะล้ำเข้ามาได้ไม่เกิน 0.40 เมตร โคมไฟทั้งสองข้างต้องอยู่ในระดับเดียวกัน ใช้ไฟแสงขาวหรือแสงเหลือง มีกำลังไฟเท่ากันไม่เกินดวงละ 10 วัตต์ และต้องมีแสงสว่างสามารถมองเห็นได้จากระยะไม่น้อยกว่า 150 เมตร โคมไฟแสงพุ่งไกล โคมไฟแสงพุ่งต่ำ และโคมไฟเล็ก จะรวมอยู่ในดวงเดียวกันก็ได้
(2) โคมไฟท้ายรถ มี 3 ประเภท คือ
- (ก)โคมไฟท้าย ให้ติดท้ายรถอย่างน้อยข้างละหนึ่งดวง โคมไฟทั้งสองข้างต้องอยู่ในระดับเดียวกัน ใช้ไฟแสงแดดมีกำลังไฟเท่ากัน และมีแสงสว่างสามารถมองเห็นได้จากระยะไม่น้อยกว่า 150 เมตร
- (ข) โคมไฟหยุด ให้ติดท้ายรถอย่างน้อยข้างละหนึ่งดวง โคมไฟทั้งสองข้างต้องอยู่ในระดับเดียวกัน ใช้ไฟแสงแดดมีกำลังไฟเท่ากัน และมีแสงสว่างสามารถมองเห็นได้จากระยะไม่น้อยกว่า 30 เมตร
- (ค) โคมไฟส่องป้ายทะเบียนรถ ให้ติดท้ายรถ ใช้ไฟแสงขาวส่องที่ป้ายทะเบียนรถ มีแสงสว่างสามารถมองเห็นเครื่องหมายหรือตัวอักษรและตัวเลขได้ชัดเจน จากระยะไม่น้อยกว่า 20 เมตร แต่ต้องมีที่บังมิให้แสงพุ่งออกไปทางท้ายรถโคมไฟท้าย โคมไฟหยุด และโคมไฟส่องป้ายทะเบียนรถต้องส่องแสงสว่างพร้อมกับโคมไฟหน้ารถ แต่โคมไฟหยุดต้องส่องแสงสว่าง เมื่อใช้ห้ามล้อเท้า”
Be the first to comment