16 มกราคม 2559 เป็นวันครู วันนี้ทาง Zcooby ขอแนะนำประวัติที่น่าสนใจเกี่ยวกับวันครู พร้อมคำขวัญและเนื้อเพลงที่ใช้ในวันครูอย่าง “พระคุณที่สาม”
คำขวัญวันครู 16 มกราคม 2559
อนาคตก้าวไกล ด้วยครูดี มีคุณภาพ
ประวัติวันครู
วันครูได้จัดให้มีขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ หลังจากพระราชบัญญัติครูประกาศใช้ ๑๒ ปี สถานที่จัดงานวันครูครั้งแรกของจังหวัดพระนครและธนบุรี คือ กรีฑาสถานแห่งชาติ
จุดเริ่มต้นของการมีวันครู มาจากการปรารถและการเรียกร้องของครูจำนวนมาก ซึ่งมีทั้งปรากฎในหนังสือพิมพ์และสื่อมวลชนอื่น ๆ หลายด้านหลายทาง ความเห็นของครูที่แสดงออกมานั้นพยายามที่จะชี้ให้เห็นความสำคัญของครูและอาชีพครูในฐานะที่เป็นผู้เสียสละประกอบคุณงามความดีเพื่อประโยชน์ของชาติและประชาชนเป็นอันมาก จึงควรที่จะมีวันแห่งการรำลึกถึงความสำคัญของครู เปิดโอกาสให้ครูทั้งหลายได้พักผ่อน ได้บำเพ็ญกุศล และตลอดจนดำรงกิจกรรมอื่น ๆ เพื่อประโยชน์ของครู และการศึกษาของชาติตามสมควร
จากความต้องการและการเรียกร้องของครูดังกล่าว จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการอำนวยการคุรุสภากิตติมศักดิ์ ได้นำไปเสนอในที่ประชุมผู้แทนคณะครูทั่วประเทศในคราวประชุมสามัญของคุรุสภาะมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๙ ที่ประชุมสามัญของคุรุสภามีมติเห็นชอบและให้เสนอคณะกรรมการอำนวยการคุรุสภาพิจารณาเพื่อกำหนดให้มีวันครูขึ้น
โดยกำหนดความมุ่งหมายไว้เพื่อประกอบพิธีระลึกถึงคุณบูรพาจารย์เพื่อส่งเสริมสามัคคีธรรมระหว่างครูกับประชาชน ส่วนกำหนดวันเห็นควรกำหนด วันที่ ๑๖ มกราคม ซึ่งเป็นวันประกาศพระราชบัญญัติครู พุทธศักราช ๒๔๘๘ ในราชกิจจานุเบกษา เป็นวันครู คณะกรรมการอำนวยการคุรุสภาในการประชุมเมื่อวันที่ ๑๒ กันยายน พ.ศ. ๒๔๙๙ ได้พิจารณาเรื่องดังกล่าวแล้ว ได้มีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นเพื่อศึกษารายละเอียด คณะอนุกรรมการฯ พิจารณาเห็นว่ากิจกรรมในงานวันครูควรมีการทำบุญตักบาตรในตอนเช้า ในตอนบ่ายเป็นพิธีระลึกพระคุณบูรพาจารย์และปฏิญาณตน นอกนั้นให้มีกิจกรรมพิเศษเพื่อเสริมสร้างความสามัคคีระหว่างผู้ประกอบวิชาชีพครูด้วยกันและระหว่างครูกับประชาชน
คำปฎิญาณตนวันครู
สำหรับคำปฏิญาณตนนั้น ให้ใช้ถ้อยคำต่อไปนี้ “ข้าขอปฏิญาณตนว่า
ข้อ ๑ ข้าจะบำเพ็ญตนให้สมกับได้ชื่อว่าเป็นครู
ข้อ ๒ ข้าจะตั้งใจฝึกสอนศิษย์ให้เป็นพลเมืองดีของชาติ
ข้อ ๓ ข้าจะรักษาชื่อเสียงของคณะครูและบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ แก่สังคม”
ต่อมาคณะกรรมการอำนวยการคุรุสภาในคราวประชุมเมื่อวันที่ ๑๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๙ ได้มีมติรับข้อเสนอของคณะอนุกรรมการและให้กระทรวงศึกษาธิการนำเสนอรัฐบาลเพื่อให้กำหนดวันที่ ๑๖ มกราคม เป็นวันครู ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๙ ให้วันที่ ๑๖ มกราคม ของทุกปีเป็นวันครู และให้กระทรวงศึกษาธิการสั่งการให้เด็กและครูหยุดในวันดังกล่าวได้ วันครูจึงได้เริ่มจัดขึ้นในปีแรกตั้งแต่วันที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๐ เป็นต้นมา
การจัดงานวันครู ได้กำหนดเป็นหลักการให้มีอนุสรณ์งานวันครูไว้ให้แก่อนุชนรุ่นหลังทุกปี อนุสรณ์สำคัญที่ได้กระทำมาแต่ต้น คือ หนังสือประวัติครู หนังสือที่ระลึกวันครู และสิ่งก่อสร้างที่เป็นถาวรวัตถุ
ดอกไม้วันครู
คณะกรรมการจัดงานวันครู พ.ศ. ๒๕๓๙ ได้มีมติกำหนดให้ ดอกกล้วยไม้ เป็นดอกไม้ประจำวันครู โดยพิจารณาเห็นว่าธรรมชาติ
ของดอกกล้วยไม้มีลักษณะคล้ายคลึงกับงานจัดการศึกษาและ สภาพชีวิตของครูดังคำกลอนของ ท่านหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ที่ว่า
“กล้วยไม้มีดอกช้า ฉันใด
การศึกษาเป็นไป เช่นนั้น
แต่ดอกออกคราวไร งามเด่น
การศึกษาปลูกปั้น เสร็จแล้วแสนงาม”
นอกจากนี้กล้วยไม้เป็นพืชที่อยู่ในที่สูง ทนต่อสภาพดินฟ้าอากาศ ไม่ร่วงโรยง่าย เปรียบเหมือนครูที่อยู่ทั่วแดนไทย ที่ต้องอดทนต่อสู้ เพื่ออุดมการณ์และอุทิศตนเพื่อการศึกษาของชาติ
เนื้อเพลง พระคุณที่สาม
ครูบาอาจารย์ที่ท่านประทานความรู้มาให้
อบรมจิตใจให้รู้ผิดชอบชั่วดี
ก่อนจะนอนสวดมนต์อ้อนวอนทุกที
ขอกุศลบุญบารมีส่งเสริมครูนี้ให้ร่มเย็น
ครูมีบุญคุณจะต้องเทิดทูนเอาไว้เหนือเกล้า
ท่านสั่งสอนเราอบรมให้เราไม่เว้น
ท่านอุทิศไม่คิดถึงความยากเย็น
สอนจนรู้จัดเจนเฝ้าเน้นเฝ้าแนะมิได้อำพราง
พระคุณที่สามงดงามแจ่มใส
แต่ว่าใครหนอใครเปรียบเปรยครูไว้ว่าเป็นเรือจ้าง
ถ้าหากจะคิดยิ่งคิดยิ่งเห็นว่าผิดทาง
มีใครไหนบ้างแนะนำแนวทางอย่างครู
บุญเคยทำมาตั้งแต่ปางใดๆ เรายกให้ท่าน
ตั้งใจกราบกรานเคารพคุณท่านกตัญญู
โรคและภัยอย่ามาแผ้วพานคุณครู
ขอกุศลผลบุญค้ำชูให้ครูมีสุขชั่วนิรันดร
พระคุณที่สามงดงามแจ่มใส
แต่ว่าใครหนอใครเปรียบเปรยครูไว้ว่าเป็นเรือจ้าง
ถ้าหากจะคิดยิ่งคิดยิ่งเห็นว่าผิดทาง
มีใครไหนบ้างแนะนำแนวทางอย่างครู
บุญเคยทำมาตั้งแต่ปางใดๆ เรายกให้ท่าน
ตั้งใจกราบกรานเคารพคุณท่านกตัญญู
โรคและภัยอย่ามาแผ้วพานคุณครู
ขอกุศลผลบุญค้ำชูให้ครูมีสุขชั่วนิรันดร
ให้ครูมีสุขชั่วนิรันดร
Be the first to comment