หมายเหตุ : ความเชื่อเรื่อง “ผีโรง” นี้ เป็นความเชื่อส่วนบุคคล ทาง Zcooby ขอนำเสนอในส่วนของข้อมูล
ผีโรงคืออะไร?
ผีโรง หมายถึง วิญญาณของผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว แต่ลูกหลานก็ยังนับถือ เพื่อให้ปกป้องคุ้มภัย โดยมีความเชื่อว่าหากบ้านใดมีการนับถือ คนในบ้านก็ต้องนับถือ ทุกคน เพื่อเป็นศิริมงคลแก่ตนเอง ครอบครัว ทำให้ทำมาค้าขึ้น ร่ำรวย และอยู่เย็นเป็นสุข
คำว่า โรง คาดว่าน่าจะมาจากคำว่า โรงเรือน ผีโรง จึงน่าจะใกล้เคียงกับคำว่า ผีบ้านผีเรือน
โดยความเชื่อเรื่องผีโรง ถือเป็นขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่น คือแบบอย่างหรือจารีตประเพณีที่นิยมปฏิบัติกันมาจากอดีตถึงปัจจุบัน ณ บ้านหางน้ำสาคร ตำบลหางน้ำสาคร อำเภอมโนรมย์ จังหวัดชัยนาท ก็เช่นกันได้มีประเพณีการไหว้ผีโรง หรือเรียกอีกอย่างว่า ผีกระบอก
งานปีประเพณีไหว้ผีโรง จะมีทุกๆ 3 ปี โดยกำหนดการจัดงานในปีที่มีเดือน 8 สองเดือน ติดต่อกัน (8 สอง 8 ) ก็กำหนดงานเป็น วันอังคาร หรือวันเสาร์ ต้นเดือน 7 เป็นวันประกอบพิธีกรรม
ในการทำพิธี คนที่นับถือจะต้องเตรียมสิ่งของไปวางไว้บนไม้กระดานที่วางพาดบนกระบุงซึ่งตั้งไว้ที่ริมถนน ครอบครัวละ 5-6 ถาด และจะมีร่างทรงเจ้าพ่อ 6 องค์ เป็นผู้ประกอบพิธี
สิ่งของที่นำมาใช้ในการเซ่นไหว้ผีโรง
- กระบอกไม้ไผ่ บรรจุหมาก 1 คำ(ส่วนประกอบของหมากมี ใบพลูทาปูนแดง หมาก 1 แว่น เปลือกไม้สีเสียด ยาสูบ) หอยเบี้ยจั่น 1 ตัว ที่ปากกระบอกจะต้องมีเทียนแท้ปักอยู่ 1 เล่ม
- บายศรีใหญ่หรือบายศรียอดข้าว ตั้งอยู่บนพานโตกมีร่มกางกันแดด
- บายศรีปากชามใช้ 3 หรือ 5 ถาด ในถาดจะต้องมีขนมรวม 11 อย่าง ห่อด้วยใบไม้ป่า วางใส่ไว้ด้วย
- มะพร้าวห้าว ที่แก่กำลังจะงอกพร้อมเจริญพันธุ์(หมายถึงความเจริญงอกงาม) 1 ผล
- เหล้าขาว 1 ขวด และจะมีผลไม้ประกอบด้วย ห้ามไม่ให้มีเนื้อสัตว์
ขนมประกอบพิธีบายศรีไหว้บรรพบุรุษ
1.ขนมทำจากถั่ว (คั่ว แช่ บด ปั้น ชุบ ทอด)
- ขนมกง จำนวน 2 อัน
- ขนมยอดข้าว จำนวน 2 อัน
- ขนมหินฝนทอง จำนวน 2 อัน
- ขนมรูปเป็ด จำนวน 2 อัน
2.ขนมทำจากข้าวตอก
- ข้าวตอกยอดข้าว จำนวน 3 อัน
- ชะมุด(ข้าวตอกเชื่อมปั้นชุบแป้งทอด) จำนวน 2 ลูก
- ข้าวตอกหัวโขน จำนวน 2 ลูก
3.ขนมทำจากข้าวเหนียวตากแห้งทอด
- ขนมยอดข้าว จำนวน 3 อัน
- ขนมลูกกรอก จำนวน 2 ลูก
- นางเล็ด จำนวน 2 อัน
- ข้าวเหนียวแดง จำนวน 2 แผ่น
Be the first to comment