วันฉัตรมงคล 2563 (4 พฤษภาคม 2563)
วันฉัตรมงคล 2563 วันไหน?
วันฉัตรมงคล 2563 ตรงกับวันจันทร์ที่ 4 พฤษภาคม 2563
โดยเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2562 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครบถ้วนตามโบราณราชประเพณี และเป็นพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งแรกที่มีการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์
วันฉัตรมงคล คือวันอะไร?
ฉัตรมงคล (อ่านว่า ฉัด-ตระ-มง-คน หรือ ฉัด-มง-คน) [Coronation Day] มีความหมายตามพจนานุกรมว่า พระราชพิธีฉลองพระเศวตฉัตร ซึ่งจะกระทำในวันคล้ายวันบรมราชาภิเษก
พระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นพระราชพิธีราชาภิเษกที่พระมหากษัตริย์ไทยได้รับการสถาปนาอย่างเป็นทางการด้วยการถวายน้ำอภิเษก โดยแบ่งออกเป็น 2 พระราชพิธีสำคัญคือ พระราชพิธีบรมราชาภิเษกและพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร
โดยวันที่ 4 พ.ค.ในปีนี้จะเป็นวันบรมราชาภิเษก ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นไปจะเรียกว่าวันฉัตรมงคล (วันระลึกถึงวันบรมราชาภิเษก) ตลอดรัชกาลของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ประวัติความเป็นมาของวันฉัตรมงคล
ตามโบราณราชประเพณีของไทย พระนามของผู้ได้รับการเลือกเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ ก็ยังคงใช้ขานพระนามเดิม เป็นแต่เพิ่มคำว่า “ซึ่งทรงสำเร็จราชการแผ่นดิน” ต่อท้ายพระนาม เครื่องยศบางอย่างก็ต้องลด เช่น เศวตฉัตร มีเพียง 7 ชั้น มิใช่ 9 ชั้น คำสั่งของพระองค์ ก็ไม่เรียกว่าพระบรมราชโองการ จนกว่าจะได้ทรงรับการบรมราชาภิเษก จึงถวายพระเกียรติยศโดยสมบูรณ์ พระราชพิธีบรมราชาภิเษกของไทย ปรากฏหลักฐานเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์คือ ศิลาจารึกวัดศรีชุมของพญาลิไทแห่งกรุงสุโขทัย กล่าวคือ พ่อขุนผาเมืองอภิเษกพระสหายคือ พ่อขุนบางกลางท่าว ให้เป็นพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ครองกรุงสุโขทัย แต่ก็ไม่มีรายละเอียดการประกอบพระราชพิธี ว่ามีขั้นตอนอย่างใด
จนกระทั่งถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อขึ้นเสวยราชสมบัติ ได้ทรงทำพระราชพิธีนี้อย่างสังเขป เมื่อ พ.ศ. 2325 ครั้งหนึ่งก่อนแล้วทรงตั้งคณะกรรมการ โดยมีเจ้าพระยาเพชรพิชัย ซึ่งเป็นข้าราชการในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นประธาน สอบสวนแบบแผนโดยถี่ถ้วน ตั้งขึ้นเป็นตำรา แล้วทรงทำบรมราชาภิเษกเต็มตำราอีกครั้งหนึ่ง เมื่อ พ.ศ. 2328 และได้ใช้เป็นแบบแผนในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ของรัชกาลต่อ ๆ มาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งแต่ละรัชกาล ก็ได้ปรับปรุงแก้ไขรายละเอียดเล็กน้อย ให้เหมาะแก่กาลสมัย ที่สำคัญคือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงเป็นปราชญ์ในทางอักษรศาสตร์ และโบราณราชประเพณี ได้ทรงพระราชนิพนธ์คำกราบบังคมทูล ของพราหมณ์และราชบัณฑิต ขณะถวายเครื่องราชกกุธกัณฑ์ กับพระราชดำรัสตอบเป็นภาษาบาลี และคำแปลเป็นภาษาไทย ทั้งนี้ อาจวิเคราะห์ได้ว่า พระราชพิธีนี้ มีคติที่มาจากลัทธิพราหมณ์ ผสมกับความเชื่อทางพุทธศาสนา ส่วนบทมนต์ต่าง ๆ ของพราหมณ์นั้น นักวิชาการภาษาตะวันออกโบราณ วินิจฉัยว่า เป็นภาษาทมิฬโบราณ
ส่วนพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อ พ.ศ. 2493 นั้น สำนักพระราชวังได้ยึดถือการบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เป็นหลัก แต่ปรับปรุงให้เหมาะสมกับสภาพบ้านเมืองที่ยังไม่อุดมสมบูรณ์ เพราะเพิ่งผ่านพ้นสงครามโลกครั้งที่สอง และเพื่อให้เหมาะสมกับการปกครองระบอบ ประชาธิปไตย แบบ ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญด้วย
Be the first to comment