หลังจากที่มีข่าวว่า โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ประธานาธิบดีสหรัฐ มีคำสั่งให้ระงับสิทธิพิเศษทางการค้าแบบปลอดภาษี หรือ สิทธิ GSP กับสินค้าจากไทยบางประเภท โดยระบุว่าประเทศไทย “ยังไม่สามารถดำเนินการเรื่องสิทธิแรงงานให้เป็นที่ยอมรับตามมาตรฐานสากล” เช่น สิทธิในการรวมตัวเป็นสหภาพ หรือสิทธิในการเจรจาต่อรองแบบกลุ่ม ทำให้หลายคนอาจจะอยากทราบว่า สิทธิ GSP คืออะไร? มีประโยชน์อย่างไร?
สิทธิ GSP คืออะไร?
GSP เป็นตัวย่อ มาจากคำว่า Generalized System of Preferences
หรือแปลเป็นไทยว่า “ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป”
ซึ่งหมายถึง สิทธิที่ประเทศที่พัฒนาแล้วบางประเทศให้กับประเทศที่กำลังพัฒนา โดยจะยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าสำหรับสินค้าบางรายการที่กำหนดไว้เมื่อประเทศผู้ได้รับสิทธิส่งสินค้าไปยังประเทศผู้ให้สิทธิ ซึ่งจะช่วยทำให้ประเทศผู้ได้รับสิทธิสามารถส่งออกสินค้าไปแข่งขันในตลาดของประเทศผู้ให้สิทธิได้มากขึ้น
ในปัจจุบันมีประเทศต่าง ๆ ที่ให้สิทธิ GSP รวมทั้งสิ้น 28 ประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ รัสเซีย นอร์เวย์ สวิตเซอร์แลนด์ กลุ่มประเทศสหภาพยุโรป เป็นต้น
ความเป็นมาของสิทธิทางการค้าหรือ GSP
แนวคิดในการให้สิทธิทางภาษีหรือ GSP นี้เกิดขึ้นเมื่อหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งเศรษฐกิจโลกตกต่ำ รวมถึงได้เกิดมีประเทศเกิดใหม่ในเอเชียและแอฟริกาที่ได้รับเอกราชคืนจากประเทศเจ้าอาณานิคมเดิมอีกเป็นจำนวนมาก
ประเทศเหล่านี้ส่วนมากมีฐานะยากจนและขาดแคลน แต่การจะช่วยเหลือในรูปเงินช่วยเหลือนั้นก็อาจจะช่วยได้ไม่มากนักและไม่ยั่งยืน องค์การ UNCTAD จึงเสนอทางออกว่าควรจะช่วยให้ประเทศเหล่านี้สามารถผลิตสินค้าส่งออกให้ได้มากขึ้น เพื่อให้ประเทศเหล่านี้มีเงินที่จะนำไปซื้อสินค้าอุปโภคและบริโภคที่จำเป็นจากประเทศอื่นได้ ดังนั้นในการประชุม UNCTAD สมัยที่ 2 ที่กรุงนิวเดลฮี ประเทศอินเดีย เมื่อปี ค.ศ. 1968 จึงได้มีมติยอมรับให้ใช้ระบบ GSP มาใช้
หลักการให้สิทธิ GSP
การให้สิทธิ GSP ดังกล่าวนี้ จะมีหลักการทั่วไปคือ ประเทศที่ให้สิทธิ GSP จะไม่เรียกร้องผลประโยชน์อื่นใดเป็นการตอบแทน และไม่เลือกปฎิบัติ หมายถึงว่าหากประเทศใดเข้าเงื่อนไขที่ตั้งไว้ก็จะได้สิทธิเช่นเดียวกัน โดยประเทศผู้ให้สิทธิจะเป็นฝ่ายตั้งเงื่อนไขบางประการ
เช่น กรณีของสหรัฐกำหนดไว้ว่า ประเทศที่จะได้รับสิทธิ GSP จะต้องเป็นประเทศที่มีฐานะยากจน มีรายได้ประชากรต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ไม่สนับสนุนหรือเกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายระหว่างประเทศ มีการคุ้มครองทรัพยสินทางปัญญา มีการคุ้มครองแรงงาน ฯลฯ
ระยะเวลาการให้สิทธิ GSP
การให้สิทธิ GSP นี้จะให้สิทธิตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ เช่น 8-10 ปี เมื่อครบกำหนดแล้ว ประเทศผู้ให้สิทธิจะเป็นฝ่ายพิจารณาว่าจะต่ออายุหรือไม่และให้กับประเทศใดบ้าง หรือจะยกเลิกสินค้ารายการใดบ้าง
Be the first to comment