นิปาห์ไวรัส คืออะไร? เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับโรคติดเชื้อไข้สมองอักเสบนิปาห์

หลังจากมีข่าวการเสียชีวิตของประชาชนในประเทศอินเดียจากโรคติดเชื้อไข้สมองอักเสบจาก นิปาห์ไวรัส หลายคนอาจจะรู้สึกกังวล และอยากจะรู้จักเชื้อไวรัสตัวนี้มากขึ้น ทาง Zcooby ขอนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ให้ทราบนะครับ

นิปาห์ไวรัส คืออะไร?

นิปาห์ไวรัส (Nipah virus หรือ NiV) เป็นเชื้อที่ทำให้เกิดโรคสมองอักเสบนิปาห์ ผลของนิปาห์ไวรัสทำให้ผู้ป่วยติดเชื้ออย่างรุนแรงของระบบหายใจ สมองอักเสบและทำให้ตายได้

ซึ่ง ณ ตอนนี้ ยังไม่มียารักษาสำหรับผู้ติดเชื้อ และยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรค ผู้ติดเชื้อมีอัตราการเสียชีวิต 70% การติดเชื้อนี้โดยการสัมผัสสารคัดหลั่ง เช่น น้ำลาย หรือปัสสาวะของสัตว์ที่เป็นโรค

นิปาห์ไวรัส เป็นเชื้อที่แพร่จากสัตว์สู่มนุษย์หรือสู่สัตว์ด้วยกัน มีต้นกำเนิดของการแพร่ระบาดจากค้างคาวผลไม้ โดยพบการระบาดครั้งแรกในมาเลเซียเมื่อปี 1998-1999 แต่ยังไม่พบการระบาดในประเทศไทย

สุกรเป็นสัตว์ที่สามารถติดเชื้อไวรัสนิปาห์ได้ง่ายที่สุด สัตว์ชนิดอื่นที่สามารถติดเชื้อได้ คือ สุนัข แพะ แมว ม้า และแกะ โดยคนจะติดเชื้อไวรัสนิปาห์ได้จากการสัมผัสสุกรที่ติดเชื้ออย่างใกล้ชิด อาจไม่แสดงอาการหรืออาจมีอาการ อาการในระยะแรกคล้ายไข้หวัดใหญ่ คือ มีไข้ ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ และจะมีอาการทางประสาทตามมา ได้แก่ วิงเวียนศีรษะ และเดินโซเซ

องค์การอนามัยโลกจัดให้ไวรัสนิปาห์อยู่ใน 10 อันดับแรกของโรคที่อาจมีการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ในอนาคต

อาการผู้ติดเชื้อจากนิปาห์ไวรัส

  • ผู้ติดเชื้อจะมีอาการคล้ายเป็นหวัด มีไข้สูง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ สมองอักเสบ
  • บางรายอาจมีอาการของระบบทางเดินหายใจร่วมด้วย
  • บางรายอาจมีอาการไข้ร่วมกับอาการทางระบบประสาท เช่น วิงเวียนศีรษะ เดินโซเซ ซึม สับสน หรือชัก
  • มีการเคลื่อนไหวของลูกตาผิดปกติ
  • แขนและขามีการกระตุก
  • ความดันโลหิตและชีพจรแปรปรวน
  • และท้ายสุดอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้

การป้องกันจากนิปาห์ไวรัส

  • เมื่อสงสัยว่าเกิดโรคสมองอักเสบนิปาห์ ในกรณีของสัตว์ ให้รีบแจ้งสัตวแพทย์ทันที และในกรณีที่พบในคน ให้รีบพบแพทย์ทันที
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ที่ติดเชื้อไวรัสนิปาห์
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานผลไม้ที่อาจปนเปื้อนน้ำลายหรือปัสสาวะของค้างคาวกินผลไม้

Be the first to comment

Leave a comment

Your email address will not be published.


*


This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.