Blockchain คืออะไร? ประโยชน์และความปลอดภัยของ Blockchain

คำว่า Blockchain อาจจะเป็นคำที่คนทั่วไปเริ่มได้ยินกันมากขึ้นในยุคนี้ โดยทางธนาคารหลายแห่งในประเทศไทย เริ่มปรับตัวในการนำเอา Blockchain มาใช้ในธุรกรรมทางการเงินมากขึ้น แต่หลายคนก็อาจจะสงสัยว่า เจ้า Blockchain มันคืออะไร มีประโยชน์ต่อเราอย่างไรบ้าง วันนี้ Zcooby จะพยายามอธิบายเรื่องนี้ให้เข้าใจกันแบบง่ายๆ ครับ

ก่อนที่จะไปอธิบายความหมายของ Blockchain ผมอยากจะให้คุณผู้อ่านลองหลับตานึกถึงคำว่า “ค่าธรรมเนียม”

  • เมื่อเรากดเงินจากตู้เอทีเอ็ม แม้เงินในบัญชีจะเป็นของเรา หากกดเงินต่างธนาคาร หรือกดเงินข้ามจังหวัด เราก็จะเจอ “ค่าธรรมเนียม”
  • เมื่อเราไปซื้อสินค้า แล้วจ่ายเงินชำระค่าสินค้าด้วยบัตรเครดิต บางร้านก็จะเรียกเก็บ”ค่าธรรมเนียม”ในการรูดบัตร 2-3%
  • เมื่อเราต้องการโอนเงินข้ามประเทศ เราก็จะถูกหักเงินส่วนหนึ่งโดยธนาคารเรียกมันว่า “ค่าธรรมเนียม”

ค่าธรรมเนียมเกิดขึ้น เพราะมี”ตัวกลาง” ที่ทำหน้าที่ในการดำเนินการธุรกรรมของเรา ทำให้เราต้องเสียเงินจำนวนหนึ่งไปให้กับตัวกลางเพื่อเป็นค่าธรรมเนียม

หากนึกภาพยังไม่ค่อยออก ผมขออนุญาตอธิบายด้วยรูปด้านล่างนี้ครับ

สมมุติว่า “ตัวกลาง” คือ ธนาคาร A

เราแต่ละคนไปเปิดบัญชีกับธนาคาร เช่น นาย 1,นาย 2, นาย 3, ไปจนถึง นาย 9

แต่ละคนเวลาจะทำธุรกรรม ก็จะทำเป็นส่วนตัวระหว่างตนกับธนาคารใช่ไหมครับ? โดยธนาคารจะรู้ว่าเราแต่ละคนมีเงินในบัญชีเท่าไหร่? แต่ในส่วนบุคคล แต่ละคนจะไม่รู้ว่าอีกคนมีเงินในบัญชีเท่าไหร่?

เพราะฉะนั้น ไม่ว่าคุณจะทำอะไรก็ตาม คุณจะต้องผ่านตัวกลางคือธนาคร เช่น นาย 1 โอนเงินให้นาย 9  นาย 1 ก็จะต้องทำธุรกรรมทางการเงินผ่านธนาคาร A โดยนาย 9 ไม่รู้ว่า นาย 1 มีเงินในบัญชีอยู่เท่าไหร่ รู้แค่ว่า ธนาคารจะนำเงินจำนวน xx บาทมาให้ตน ตามที่ตกลงกับนาย 1 ซึ่งบางธนาคารมีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมกรณีโอนมากกว่าจำนวน X ครั้ง หรือ โอนผ่านสาขาคนละจังหวัดกัน

รูปที่ 2 ยิ่งกรณี นาย7 ต้องการโอนเงินให้กับนาย10 ซึ่งมีบัญชีธนาคารคนละธนาคารกัน นาย 7 ต้องโอนเงินผ่านธนาคาร A และ B เพื่อให้เงินไปถึงนาย10 ก็จะถูกคิดค่าธรรมเนียมกรณีโอนเงินต่างธนาคารอีก

เราลองมาดูว่า Blockchain ช่วยเราในเรื่องนี้อย่างไรบ้าง?

******************************

Blockchain คืออะไร?

หากสรุปง่ายๆ Blockchain ก็คือ

รูปแบบการจัดเก็บข้อมูลชนิดหนึ่ง ที่มีลักษณะเป็นบล็อกเรียงต่อกันเป็นสาย แต่ละบล็อกก็จะมีชุดข้อมูลที่สามารถเชื่อมโยงไปยังบล็อกก่อนหน้าได้

ลองดูรูปนี้นะครับ

ในระบบของ Blockchain จะมีการเชื่อมโยงข้อมูลกันเป็นสาย ไม่มีตัวกลางที่คอยควบคุม และที่สำคัญ แต่ละจุดจะมีข้อมูลที่อัพเดทเหมือนกันหมด เช่น

ระบบบอกว่า นาย10 มีเงินอยู่ 50 บาท  ดังนั้นในข้อมูลบัญชีของนาย 1-9 ก็จะถูกอัพเดทให้ทราบว่า นาย10 มีเงินอยู่ 50 บาท

เมื่อนาย10 จะโอนเงิน 15 บาท ให้กับนาย1 ข้อมูลบัญชีของนาย1-10 ก็จะถูกอัพเดทว่า นาย10 มีเงินเหลือ 35 บาท และนาย1 มีเงินเพิ่ม 15 บาท

******************************

ความปลอดภัยของ Blockchain

แม้จะมีการเปิดเผยข้อมูลของแต่ละบล็อค เพื่อให้ทุกบล็อคสามารถตรวจสอบกันได้ก็ตาม อาจจะดูเหมือนจะไม่ค่อยปลอดภัย แต่ในความเป็นจริงแล้ว

  • Blockchain อาศัยเทคโนโลยีการเข้ารหัส ถอดรหัสเสริมเข้าไปอีก
  • เพื่อเป็นการรับประกันว่าทุกๆ รายการที่ถูกเขียนขึ้นมาใหม่นั้นถูกต้องเชื่อถือได้
  • รวมถึงเทคนิคในการลดขนาดการจัดเก็บข้อมูลเพื่อให้ข้อมูลบัญชีของทั้งเครือข่ายมีขนาดเล็กที่สุด
  • มีเทคนิคในการลดขนาดการจัดเก็บข้อมูลเพื่อให้ข้อมูลบัญชีของทั้งเครือข่ายมีขนาดเล็กที่สุด
  • แต่ยังคงความสามารถในการตรวจสอบเต็ม 100% เหมือนเดิม

หากมีมิจฉาชีพที่จะแอบเอาเงินของใครคนหนึ่งไป แทนที่เดิมมิจฉาชีพจะพุ่งเป้าโจมตีไปยังจุดๆ เดียว เช่นธนาคาร เมื่ออยู่ในระบบของ Blockchain มิจฉาชีพต้องใช้ความพยายามอย่างมาก ในการแก้ไขข้อมูลของทุกๆ บล็อค ซึ่งเป็นไปได้ยากมาก ทำให้ระบบ Blockchain มีความปลอดภัยกว่าระบบเดิมๆ

ท้ายสุดนี้ Blockchain ไม่ได้ใช้ได้เฉพาะแต่กับระบบทางการเงินเพียงเท่านั้น แต่ยังสามารถนำไปประยุกต์กับระบบอื่นๆ ได้อีกด้วย เช่น

  • การลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง
  • ระบบบันทึกประวัติทางการแพทย์
  • ระบบจัดเก็บกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินต่างๆ เช่น ทะเบียนรถ, โฉนดที่ดิน, หุ้น
  • ระบบแต้มส่งเสริมการขายอย่าง The One Card, Stamp เซเว่น
  • และระบบอื่นๆ อีกมากมาย ฯลฯ

 

Be the first to comment

Leave a comment

Your email address will not be published.


*


This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.