ในปี พ.ศ. 2559 นี้เป็นอีกปีหนึ่งที่มีจำนวนวันทั้งหมด 366 วัน โดยมีวันที่ 29 กุมภาพันธ์ เพิ่มขึ้นมาหนึ่งวันในเดือนกุมภาพันธ์ หลายคนอาจจะสงสัยว่า ทำไมถึงต้องมีวันที่ 29 กุมภาพันธ์ ในทุกๆ 4 ปี วันนี้ Zcooby หาคำตอบมาให้ทราบครับ
“ปีอธิกสุรทิน”และ”อธิกวาร” (leap year & leap day) คืออะไร?
- ปีอธิกสุรทิน (leap year) คือ เป็นปีที่มีการเพิ่มหนึ่งวัน คือวันที่ 29 กุมภาพันธ์
- อธิกวาร (leap day) คือ วันที่ 29 กุมภาพันธ์เป็นวันที่ซึ่งปกติมีทุกสี่ปี และเรียกว่า อธิกวาร (leap day) วันนี้เพิ่มเข้าไปในปฏิทินในปีอธิกสุรทินเพื่อเป็นมาตรการแก้ไขวันที่ให้ถูกต้อง เพราะโลกไม่ได้โคจรรอบดวงอาทิตย์ 365 วันพอดี
ทำไมถึงต้องมีวันที่ 29 กุมภาพันธ์ ในทุกๆ 4 ปี
ด้วยเหตุที่ว่าโลกของเราจะหมุนรอบดวงอาทิตย์ทุกๆ 1 รอบจะต้องใช้เวลาทั้งหมด 365 วัน แต่จะมีเศษอยู่ด้วยอีกประมาณ 0.25 วัน
ดังนั้นทุกๆ 4 ปีจึงจะต้องเอาเศษที่เหลือมาบวกรวมกันด้วยอีก 0.25 x 4 = 1 วัน
วันที่เพิ่ม 1 วัน จะถูกเพิ่มเข้าไปในเดือนกุมภาพันธ์จากเคยมีอยู่แล้ว 28 วันให้เป็น 29 วันในปีที่สามารถนำเอาปีค.ศ.มาหารด้วย 4 แล้วลงตัวได้ เช่น 2012 หาร 4 ก็จะลงตัวเป็น 503 เป็นต้น
ทั้งนี้ก็เพื่อให้แต่ละปีสามารถมีจำนวนวันที่ถูกต้องตามดาราศาสตร์ หรือฤดูกาล โดยจะต้องมีการปรับให้จำนวนวันต่อปีไม่คลาดเคลื่อนกับวิถีการโคจรที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง
แต่ในความเป็นจริงแล้วเศษวันที่เกินกว่า 365 วันนั้นไม่พอดีกับ 0.25 วันทุกปีแต่เป็น 0.24218 วัน
เมื่อมารวมวันในหลายปีกันแล้วก็จะทำให้จำนวนวันเกินไปจากความเป็นจริง ดังนั้นจึงจำเป็นต้องตรวจสอบด้วยว่าปีใดในทุก 4 ปีอาจจะไม่ต้องเพิ่มวันโดยให้ใช้วิธีเอาปีค.ศ หารด้วย 100 ลงตัวก็ให้เป็นปีที่ไม่ต้องเพิ่มวัน แต่ถ้ายังหารด้วย 400 แล้วลงตัวอยู่ด้วยก็จะถือว่าปีนั้นเป็น “ปีอธิกสุรทิน” ทีจะต้องเพิ่มวันตามปกติเข้าไปด้วย
ยกตัวอย่าง เช่น ปี คศ. 2000 หารลงตัวด้วย 4, 100 และ 400 เป็นปีอธิกสุรทิน มี 366 วัน ส่วนปี คศ. 1900 และ 2100 หารลงตัวด้วย 4 และ 100 แต่หารด้วย 400 ไม่ลงตัว จึงเป็นปีปกติที่มี 365 วันโดยไม่ต้องเพิ่มวันแต่อย่างใด ดังนั้น เมื่อครบ 4 ปีแล้ว จึงอาจมีบางปีที่จะไม่เพิ่มอีก 1 วันแต่อย่างใดเลยก็ได้เช่นกัน
Be the first to comment